วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รวมข่าวเกษตร

...................................................................................................................
จัดตู้ปลาอย่างมืออาชีพ
วันพฤหัสบดี ที่ 01 กันยายน 2554 เวลา 0:00 น

โดยทั่วไปในการจัดตู้ปลา นักเลี้ยงปลามือใหม่มักสนใจในเรื่องว่าจะเลี้ยงปลาอะไรดี หรือจะตื่นเต้นกับการจะจัดตู้ปลาแบบไหน ให้ออกมาสวยงาม โดยบางครั้งลืมคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเลี้ยงปลาตู้

อาทิ ชนิด ขนาดของปลาว่าเหมาะสมกับขนาดตู้หรือไม่ ปลาที่เลี้ยงเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือแม้กระทั่งการอยู่ร่วมกันของปลาแต่ละชนิด ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญให้การเลี้ยงปลาของคุณไม่ประสบผลสำเร็จ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำว่า ในการจัดตู้ปลาสวยงามแต่ละครั้ง ควรเข้าใจและมองถึงเรื่องของ “พันธุ์ปลา” ที่จะนำมาเลี้ยง และความกลมกลืนของวัสดุอุปกรณ์ทั้งด้านขนาด รูปร่าง สีสัน รวมไปถึงจุดเด่นของวัสดุอุปกรณ์ที่เราเลือกซื้อมา อีกทั้งต้องมองถึงจุดเน้น และความสมดุลของสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาจัดวางในตู้ให้เกิดความเหมาะสมด้วย

ลำดับแรก ควรเลือกชนิดพันธุ์ปลาที่จะนำมาเลี้ยงก่อน โดยหลักสำคัญในการเลือกปลา คือ จะต้องเป็นชนิดที่อยู่ร่วมกันได้ มีนิสัย ความต้องการทางสภาพแวดล้อมคล้าย ๆ กัน รวมทั้งเลือกขนาดที่เหมาะสม อาทิ ปลาหางนกยูง ปลาน้ำผึ้ง ปลาซิวข้างขวาน ปลาเซลฟิน ปลาบู่หมาจู ปลาคาร์ดินัล ปลาทรงเครื่อง ปลาม้าลาย เป็นต้น

ลำดับที่สอง การเลือกซื้อตู้และอุปกรณ์เสริม สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ จะต้องเลือกตู้ที่มีลักษณะเหมาะสมกับปลาที่เราจะเลี้ยง และเหมาะกับพื้นที่ที่จะจัดวาง อีกทั้งต้องมีความแข็งแรง ไม่รั่วซึม ส่วนอุปกรณ์เสริมที่สำคัญและควรจะมีไว้ คือ หลอดไฟ ชุดกรอง และออกซิเจน ซึ่งจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของปลา น้ำที่ใช้เลี้ยงปลา และขนาดของตู้ นอกจากนี้ควรจะมีอุปกรณ์ทำความสะอาดติดไว้ด้วย

ลำดับที่สาม การจัดตกแต่งตู้ปลา ตู้ปลาก็เปรียบเสมือนบ้านหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาที่ปลอดภัยที่สุด ฉะนั้น การจัดให้เหมือน ใกล้เคียงธรรมชาติของปลาชนิดนั้น ๆ จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด พรรณไม้น้ำ ก้อนหิน รากไม้ ขอนไม้ และคุณภาพน้ำที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ปลาที่คุณเลี้ยงอาศัยอยู่ได้อย่างเป็นสุข แต่สิ่งที่นักเลี้ยงปลาตู้มือใหม่คาดไม่ถึง คือ การที่นำของตกแต่งที่มีสีสันฉูดฉาด มีช่องมีรูใกล้เคียงกับขนาดปลา หรือของที่มีความคมความแหลมมาประดับตู้ เพื่อให้เกิดความสวยงามนั้น แท้จริงแล้วเป็นการทำร้ายปลาอย่างร้ายกาจเลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่เหมาะสมคือ วัสดุธรรมชาติที่ไม่มีสารพิษหรือสิ่งเจอปนที่ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง โดยที่จะต้องทราบอุปนิสัยของปลาที่เลี้ยงด้วยว่าชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่แบบใด

ลำดับที่สี่ การดูแลตู้ปลา เมื่อจัดตู้ปลาเรียบร้อยแล้ว ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรนำถุงปลาไปแช่ไว้ในตู้เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิน้ำให้ใกล้เคียง ก่อนที่จะปล่อยปลาลงไป และสิ่งที่นักเลี้ยงปลาตู้มือใหม่จะต้องทำทุกวัน คือ การให้อาหารปลาในปริมาณที่พอเหมาะไม่ให้เหลือตกค้างในตู้ อีกทั้งการเปลี่ยนถ่ายน้ำและทำความสะอาดตู้ปลาทุกสัปดาห์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาให้เหมาะสม

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพียงเท่านี้ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คนหันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยการเลี้ยงปลาตู้ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินได้แล้ว อาจจะช่วยให้กลายเป็นนักจัดตู้ปลามืออาชีพก็เป็นได้.

ข่าวจาก

Dailynews Online

>>>>>



รณรงค์ส่งเสริมใช้ปุ๋ยถูกวิธี ลดต้นทุนเกษตร สร้างชุมชนเข้มแข็ง
11 สิงหาคม 2554, 05:00 น.
Pic_192724

พืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิดที่อยู่ในโครงการประกันรายได้.

แม้เกษตรกรไทยจะมีศักยภาพในการผลิตค่อนข้างสูง หากลงให้ลึกจะพบว่าน้อยรายที่รู้จักสภาพ “ดิน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช ขาดความรู้ด้านการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดพืช

ฉะนี้...เพื่อเป็นการแก้ปัญหา “ดินเสื่อมโทรม” ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นในหลายแห่งในพื้นที่เพาะปลูก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำ “โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร” ตามนโยบายที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะเมื่อเปิดการค้าเสรี (AFTA)

นายวิทยา อธิปอนันต์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า...เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ในทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯจึงเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นให้ใช้ปุ๋ยตามศักยภาพของชุดดิน อย่างถูกต้องเหมาะกับสภาพและตรงตามความต้องการของพืช ตามผลที่ได้จากการส่งดินไปวิเคราะห์

ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร บอกถึงคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่า ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง ใน โครงการประกันรายได้ปี 2553/54 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยขั้นแรก เกษตรกรจะได้รับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่เพาะปลูก ทั้งยังได้รับความรู้การวิเคราะห์ดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังให้สินเชื่อแก่เกษตรกรสำหรับซื้อปุ๋ยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นอกจากนี้ โครงการยังจะ ชดเชยค่าส่วนต่างของราคาปุ๋ยที่เกษตรกรใช้ จำนวน 7 สูตร ได้แก่ สูตร 16-20-0, 46-0-0, 18-12-6, 15-15-15, 16-8-8, 16-16-8 และสูตร 13-13-21 ในอัตราเฉลี่ย 1.50 บาท/กิโลกรัม (กระสอบละ 75 บาท) หรือตันละ 1,500 บาท ตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่มีสิทธิตามโครงการประกันรายได้ และตามปริมาณการใช้ปุ๋ย/ไร่ เป็นรายภาค

โครงการดังกล่าวนอกจากทำให้เกษตรกรมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ยังคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ประมาณ 20% และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 5% ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

“...หากเกษตรกรใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำที่เหมาะสม ถูกชนิดตามที่ดินขาดธาตุอาหาร ใส่อย่างพอเพียง ตรงตามช่วงเวลาที่พืชต้องการอย่างถูกวิธี พืชก็จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด นอกจากทำให้คุณภาพดินดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดการปนเปื้อนปุ๋ยเคมีสู่ดิน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลดปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้การใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลงด้วย...”

สำหรับผู้ที่สนใจสมัคร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.

เพ็ญพิชญา เตียว
ข่าวจาก

Thairath Online

>>>>>

ใช้เชื้อราทำลายเพลี้ยกระโดด แปลงนาปลอดภัยไร้้เคมีฆ่าแมลง
11 สิงหาคม 2554, 05:30 น.
Pic_193014
นายศักดิ์ดา บุญสังวาลย์ นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการ ศูนย์บริหารศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหาย จากการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเขต อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการนำของ ผู้ใหญ่จันทร์เจ้า โพธิ์สุทธิ์ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรของหลายหน่วยงาน หลังจากที่ได้รับการ สนับสนุนเชื้อบิวเวอร์เรียมาแจกจ่ายให้ โดยมีนักวิชาการเข้ามาให้คำแนะนำวิธีการใช้และดูแลติดตาม ผลอย่างใกล้ชิด เมื่อใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียลงในแปลง นาเพียง 3 วันก็พบว่า เชื้อราได้ทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาจนสังเกตเห็นตัวเพลี้ยตายลอยเป็นแพอยู่เหนือน้ำเป็นจำนวนมากหลังจากนั้น นักวิชาการได้แนะนำถึงวิธีการฟื้นฟูต้นข้าวด้วยการให้ธาตุอาหารทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตจนต้นข้าวสามารถกลับมาเจริญเติบโตและให้ผลผลิตจนเก็บเกี่ยวได้ นอกจากจะช่วย ลดค่าใช้จ่ายค่าสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียยังไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติในนาข้าวด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อราบิวเวอร์เรียได้ที่ศูนย์บริหารศัตรูพืช 08-1882-7235, 0-2592-4096, 0-2592- 4481 ในเวลาราชการ.
ข่าวจาก

Thairath Online

>>>>>

“ชาวนาต้นแบบ” ใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต

วันอังคาร ที่ 23 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

“พิชิต เกียรติสมพร”...เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตำบลสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ให้เป็น ชาวนาต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าว (ครูติดแผ่นดิน) ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตมานานกว่า 5 ปี นอกจากการใช้ปุ๋ยจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและคุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว ยังสามารถยกระดับการผลิตข้าวพร้อมลดต้นทุนอีกด้วย เขา เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี 2549 ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่จากหลายหน่วยงาน ทำให้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและปุ๋ย รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตข้าว ได้แก่ การวิเคราะห์ตัวอย่างดิน การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยลดต้นทุน) การจัดการเมล็ดพันธุ์ การจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้และทดลองใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวในแปลงนาของตนเอง พื้นที่นำร่อง 1 งาน ซึ่งเห็นข้อดีจึงขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 2 ไร่ ปรากฏว่าได้ผลดีและเป็นที่พอใจ ระยะ 5 ปีหลังนี้ จึงได้ขยายพื้นที่การใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตในนา 4 แปลง รวมเนื้อที่ 50 ไร่ โดยทำนาปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ปลูกมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์พิษณุโลก 2 และ พันธุ์กข 29

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว จะเก็บตัวอย่างดินในแปลงนาเพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน โดยเก็บตัวอย่างดินที่ความลึก 10 เซนติเมตร ประมาณ 15-20 จุด/แปลง แล้วนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันและผึ่งดินในที่ร่มให้แห้ง จากนั้นบดดินให้ละเอียดและนำมาวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช ซึ่งปัจจุบันใช้ชุดตรวจสอบ N-P-K ในดินแบบรวดเร็ว (Soil Test Kit) พบว่า ดินในนามีไนโตรเจนระดับปานกลาง-สูง ฟอสฟอรัสในระดับต่ำ และมีโพแทสเซียมในระดับปานกลาง ทั้งยังพบว่า ดินมี pH เป็นกลาง และเป็นชุดดินสระบุรี ทำให้รู้ว่าดินขาดธาตุฟอสฟอรัส และสามารถเลือกใช้ปุ๋ยได้ถูกสูตรและถูกเวลาที่พืชต้องการมากที่สุด

การใส่ปุ๋ยต้องตรงกับความต้องการของพืช ซึ่งการใช้ปุ๋ย N-P-K ในชุดดินสระบุรี ที่ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2 แนะนำให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง โดยใส่ ครั้งแรก ในระยะข้าวแตกกอหรือต้นข้าวอายุประมาณ 25-30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 5 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยสูตร 18-46-0 จำนวน 9 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งที่สอง ใส่ปุ๋ยในระยะกำเนิดช่อดอกหรือต้นข้าวอายุ ประมาณ 60 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ประมาณ 3-5 กิโลกรัม/ไร่

นายพิชิตยังบอกถึง ผลดีของการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวว่า วิธีนี้สามารถช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 50% อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลงจากเดิม 40 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 20-25 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนั้นต้นข้าวยังมีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้ค่อนข้างมาก สามารถลดต้นทุนการผลิตลงจากประมาณ 4,000 บาท/ไร่ เหลือ 2,500-2,800 บาท/ไร่ ถึงแม้จะได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่เมื่อเทียบผลตอบแทนแล้ว ได้กำไรเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า

“ขณะนี้ได้มีการขยายผลและถ่าย ทอดองค์ความรู้การใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว ไปสู่เพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญ ดังนั้น จึงอยากให้ปรับแนวคิดใหม่ โดยต้องรู้ว่า ปุ๋ยที่ใช้อยู่ให้ประโยชน์อะไรกับต้นข้าวในนา ที่สำคัญควรหันมามองที่ผลกำไร ไม่ใช่ปริมาณผลผลิตที่ได้ ซึ่งผลตอบแทนต้องคุ้มค่าการลงทุน”

...หากสนใจเทคนิคและวิธีการลดต้นทุนการผลิตข้าว สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแนวคิดกับชาวนาต้นแบบ ได้ที่ เลขที่ 22/2 หมู่ 4 ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 08-9174-2512.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ลุยปราบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

วันอังคาร ที่ 23 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังว่า เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกชุกทุกพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งสภาพอากาศมีความชื้นสูงทำให้ไม่เหมาะแก่การขยายพันธุ์และแพร่กระจายของเพลี้ยแป้ง ส่งผลให้ปัญหาการระบาดลดลงทุกพื้นที่ เหลือประมาณ 21,200 ไร่ คิดเป็น 0.22% ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังยืนต้นทั้งประเทศ 9,649,534 ไร่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินโครงการรณรงค์ปล่อยแตนเบียน Anagyras lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู โดยจะผลิตและปล่อยแตนเบียนในแหล่งปลูกที่มีการระบาด รวมถึงพื้นที่ที่เคยพบการแพร่ระบาด เป้าหมายไม่น้อยกว่า 8 แสนคู่ หรือ 1.6 ล้านตัว ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเบาบางลงได้การปล่อยแตนเบียน Anagyras lopezi 1.6 ล้านตัว จะจัดสรรและปล่อยปูพรมครอบคลุมทุกพื้นที่โดยอาศัยช่วงที่เพลี้ยแป้งระบาดน้อย คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งโครงการฯจะแบ่งปล่อยแตนเบียน 3 ครั้ง ๆ ละ 1,000 จุด ๆ ละ 200 คู่ ครอบคลุมพื้นที่จุดละ ประมาณ 7,800 ไร่ โดยครั้งแรกจะปล่อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ จำนวน 2 แสนคู่ ส่วนอีก 6 แสนคู่ จะแบ่งปล่อย 2 ครั้งในเดือนธันวาคม เพื่อควบคุมและป้องกันก่อนที่เพลี้ยแป้งจะแพร่ระบาดลุกลามในช่วงหน้าแล้ง.
ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ปลูกมะละกอ “เรด แคริเบียน”

วันอังคาร ที่ 23 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

โดยปกติแล้วมะละกอสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด เราควรปรับปรุงดินก่อนโดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะโดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก ถ้ามีน้ำขังมาก ๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้มะละกอแขกดำ “เรด แคริเบียน” เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรนำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลางและนำมาคัดเลือกพันธุ์นานกว่า 7 ปี ได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะดังนี้ ขนาดผลคล้ายกับมะละกอเรดมาลาดอล์แต่มีขนาดของผลใหญ่กว่ามาก (ขนาดผลใหญ่กว่าเท่าตัว) น้ำหนักผลเฉลี่ย 2-5กิโลกรัม เนื้อหนามาก มีสีแดงส้มและรสชาติหวาน จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่าต้นมะละกอแขกดำ “เรด แคริเบียน” มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ลำต้นมีความแข็งแรง ติดผลดกและผลมีขนาดใหญ่ เป็นมะละกอที่สามารถบริโภคได้ทั้งผลสุกและผลดิบ โดยเฉพาะผลสุก มะละกอมีรสชาติหวานจัด เนื้อหนา 3-4 ซม. ทานอร่อยมาก ส่วนผลดิบใช้ตำส้มตำได้เหมือนมะละกอแขกดำปัจจุบันทางชมรมฯ ได้คัดเลือกพันธุ์มะละกอแขกดำ “เรด แคริเบียน” ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ A, B และ C คัดเลือกพันธุ์จนสายพันธุ์เริ่มนิ่ง และในแต่ละกลุ่มที่ลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ ความใหญ่ของผล อย่างกรณีของกลุ่ม C น้ำหนักผลหนักถึง 4 กิโลกรัม, มีเนื้อสีแดงเหมือนกับมะละกอแขกดำศรีสะเกษ แต่มีสภาพต้นที่แข็งแรงและต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ดีกว่า มะละกอ “เรด แคริเบียน” บางต้นเป็นโรคจุดวงแหวน เมื่อได้รับปุ๋ยและน้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นมะละกอ “เรด แคริเบียน” เจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไปได้การเตรียมดินและปลูก แขกดำ “เรด แคริเบียน” ถ้าสภาพดินปลูกมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ในอัตรา 200-300 กก./ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วตากทิ้งไว้ 10-15 วันหลังจากนั้นไถยกร่อง สูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เมตร เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณหลุมปลูก ในการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูกขนาด 50x 50x50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 2.5-3 เมตรใส่แกลบดิบและแกลบเผาอย่างละครึ่งปี๊บ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 5 กิโลกรัม หินฟอสเฟตบด 1 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ประมาณ 150 กรัม ผสมดินในหลุมปลูกกับวัสดุปรับปรุงดิน รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี หว่านเชื้อไตรโคเดอร์มา 50-100 กรัม/หลุม เพื่อลดการสูญเสียจากโรครากเน่า โคนเน่า คลุมบริเวณหลุมปลูกด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วันจึงปลูกได้.ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

4 แนวทางช่วยเกษตรกร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้...

วันอังคาร ที่ 23 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น
ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่ราคาจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร กลับมีความผันผวนขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับรายได้จะไม่ค่อยสอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากนัก จึงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ควรจะเป็นในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เลี้ยงประชากรในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังสร้างรายได้เข้าประเทศปีละมากมายมหาศาลนายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินเพาะปลูกที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ทำการเกษตร โดยมุ่งเน้นไปที่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เนื่องจากดินเป็นปัจจัยทางการผลิตที่สำคัญ ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ก็สามารถช่วยให้พืชผลมีการเจริญเติบโตที่ดี กรมฯ จึงมีแนวทางอยู่ 4 ด้านหลัก ๆ ที่จะส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านการสำรวจและวิเคราะห์ค่าของดิน ในพื้นที่หมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 72,484 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลดินรายหมู่บ้าน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยขณะนี้กรมฯ ได้เก็บตัวอย่างดินครอบ คลุมทุกพื้นที่ พร้อมกับนำมาวิเคราะห์สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณสมบัติและลักษณะของดินความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำการประมวลผลและจัดทำเป็นฐานข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินของประเทศไทยรายหมู่บ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้แจกจ่ายไปติดประกาศไว้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ทั่วประเทศ รวมทั้งที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th เกษตรกรสามารถไปขอดูค่าวิเคราะห์ดินเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลจะบอกถึงธาตุอาหารในดิน พืชที่เหมาะสมกับดิน ค่าการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีการจัดการดินและวางแผนปลูกพืชที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่ไม่จำเป็นลงได้ แต่ถ้าเกษตรกรรายใดที่ต้องการค่าวิเคราะห์รายแปลงพื้นที่ของตัวเองเพื่อความแน่นอน ก็ให้นำตัวอย่างดินจากแปลงของท่านไปตรวจวิเคราะห์ได้โดยตรงที่กรมพัฒนาที่ดินหรือสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งด้านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.สูตรต่าง ๆ ที่กรมฯ คิดค้นขึ้นมาเพื่อบริการแจกจ่ายแก่เกษตรกร ช่วยในการย่อยสลายเศษวัสดุทางธรรมชาติได้เร็วกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อพืชและดินในพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการทำปุ๋ยด้วยวิธีทางธรรมชาติที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก ด้านการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพคุณภาพสูง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น ช่วยสร้างธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช ส่งเสริมให้การเจริญเติบโตของพืชดี ด้านสุดท้าย คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด เช่น พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ปอเทือง ปลูกเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับโครงสร้างของดิน ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ช่วงพักดินจากการปลูกข้าว หรือพืชไร่ ให้ใช้การไถกลบตอซังทดแทนการเผา และให้ปลูกพืชปุ๋ยสดไว้เป็นเวลา 48 วัน จากนั้นให้ไถกลบเท่านั้น ท่านก็จะได้ปุ๋ยธรรมชาติที่คืนสู่ผืนดิน ช่วยในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเมื่อดินดีก็ช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลงมากขึ้น เมื่อทำการเพาะปลูกครั้งต่อไปก็จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรได้มากทีเดียวถ้าเกษตรกรนำแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือทั้งหมดที่กรมฯ ได้แนะนำไปใช้ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตลอดจนก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ สิ่งสำคัญที่อยากจะแนะนำเกษตรกรคือ อยากให้ใช้ที่ดินตามศักยภาพและความเหมาะสมกับพืชที่จะปลูก โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับดินดีกว่า เพราะจะทำให้ ท่านมีรายได้ยังชีพได้ยั่งยืน” อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน กรมพัฒนาที่ดิน 1760 หรือหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบลใกล้บ้าน.
ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

คำเดื่อง ภาษี...ปราชญ์ ผู้ฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย

วันเสาร์ ที่ 16 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

ปัจจุบัน การทำเกษตรประณีตกำลังเป็นที่สนใจแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากเป็นการทำจากเล็กไปหาใหญ่ จากง่ายไปหายาก ทำได้จริงและทำได้กับทุกคนที่มีใจและมีปัญญา โดยต้องวางแผนทำเกษตรกรรมถาวรและพอเพียงก่อน ทำแบบปลอดจากสารพิษ ปลูกพืชที่เป็นอาหารประจำวัน มีบำนาญชีวิต โดยหลักสำคัญในการทำเกษตรประณีต คือ “กินของที่ปลูกและใช้ของที่ทำ” รวมทั้งต้องศรัทธาในงานที่ตัวเองทำ จัดระบบพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนไปตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่องและพอเพียง...

พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งสถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไท บ้านโนนเขวา ต.หัวฝายกิ่ง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า เดิมครอบครัวทำการเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงานอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มาศึกษาดูงานส่วนใหญ่มองว่า แปลงเกษตรผสมผสานของพ่อคำเดื่องเป็นแปลงใหญ่ที่ทำได้ยาก ใช้เวลานานกว่าจะประสบผลสำเร็จ ทำให้หลายรายเกิดความท้อถอย จึงมีแนวคิดว่า “ย่อส่วน” แปลงเกษตรผสมผสานให้มีขนาดเล็กลงมาเป็น “เกษตรประณีต 1 ตารางเมตร” เพื่อกระตุ้นและจุดประกายแนวความคิดเกษตรกรทั่วไป โดยเฉพาะรายย่อยและเกษตรกรที่มีที่ทำกินค่อนข้างจำกัด ก็สามารถทำได้ เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรได้

การทำเกษตรประณีต 1 ตารางเมตร เป็นแนวทางและรากฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจพอเพียงอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีที่ดินค่อนข้างจำกัด หรือมีที่ดินน้อย รวมทั้งผู้ที่มีเวลาน้อย มีความรู้ทางการเกษตรน้อย มีทุนทรัพย์น้อย มีปริมาณน้ำน้อย และมีแรงงานน้อย ขอเน้นว่า “จะทำอย่างไรจึงจะทำให้พื้นที่น้อย ๆ เกิดประโยชน์สูงสุด” เกษตรกรสามารถแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำเกษตรประณีตได้ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ไม่ยากเลย เบื้องต้นต้องสำรวจพื้นที่ที่มีอยู่ แล้วสำรวจว่าอยากได้อะไรจากพื้นที่นั้น และต้องสำรวจด้วยว่าทรัพยากรที่มีอยู่หรือทุนเดิมที่มีอยู่ ทั้งทิศทางแสง วัตถุดิบ และทุนทรัพย์ จากนั้นค่อยวางผังลงบนกระดาษก่อนว่า จะปลูกอย่างไรให้ได้ชนิดพืชที่มีความหลากหลายในพื้นที่นั้น แล้วลงมือปฏิบัติจริง

เนื้อที่ 1 ตารางเมตร ถ้าวางแผนดีสามารถปลูกพืชได้ไม่น้อยกว่า 35 ชนิด โดยเลียนแบบป่าซึ่งพืชที่ปลูกจะเกื้อกูลกันและไม่แย่งอาหารกัน โดยขุดหลุมปลูกกล้วยไว้ตรงกลาง และปลูกต้นไม้ยืนต้น (เอาไว้สร้างบ้านในอนาคต) ไว้ที่มุม 4 ด้าน อาจเลือกปลูกต้นยางนา มะฮอกกานี หรือต้นสักทองก็ได้ นอกจากนั้นยังสามารถเลือกปลูกมะรุม ขี้เหล็ก แคป่า รวมถึงผลไม้ เช่น กระท้อน ขนุน มะชาม มะกอกน้ำ มังคุด น้อยหน่า ทับทิม ไม้ใช้ทำยาพื้นบ้าน เช่น มะตูม มะหาด มะเกลือ ไม้ให้น้ำมัน เช่น ต้นพลวง ต้นสะแบง ไม้ดอกสวยงาม เช่น ต้นคูน ต้นจาน ดาวเรือง ไม้หอม เช่น กฤษณา กันเกรา ต้นปีบ ไม้ใช้ใบเลี้ยงสัตว์ เช่น ประดู่ ไผ่ นอกจากนั้นยังเลือกปลูกไม้ใช้ไล่แมลง เช่น สะเดา ต้นยอป่า ไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น มะค่าโมง มะค่าแต้ ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นต้น ทั้งยังสามารถปลูกผักสวนครัว เช่น ชะพลู มะเขือพวง มะเขือเทศ ยี่หร่า กุยช่าย โหระพา หอม สะระแหน่ มะกรูด มะละกอ มันเทศ พลูคาว แค และพริก ในบริเวณเดียวกัน สามารถรดน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักบำรุงดินได้ในเวลาเดียวกัน หากปลูกไม้เหล่านี้พร้อมกับกล้วย กล้วยจะเป็นพืชพี่เลี้ยงให้ร่มเงา และช่วยเก็บความชื้น …

...ยังมีความรู้อีกมากมายจากพ่อคำเดื่อง ภาษี หากสนใจสามารถแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแนวคิดกับคุณพ่อคำเดื่องได้ที่ “สถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไท” จ.บุรีรัมย์ โทร. 08-1876-5906, 08-5777-7530.

"ดงข้าว"
bronze@hotmail.com

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ 'ขอนแก่น 84-7'

วันจันทร์ ที่ 15 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

จากการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ คือ “พันธุ์ขอนแก่น 84-7” หรือ “Khon Kaen 84-7” ซึ่งกรมวิชาการเกษตรประกาศเป็น “พันธุ์พืชรับรอง” ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2554 และเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรในการใช้พืชพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งสามารถช่วยสร้างอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมและเพิ่มรายได้อีกด้วย

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วลิสงพันธุ์ขอน แก่น 84-7 เดิมชื่อ สายพันธุ์ KK4418 เกิดจากการผสมข้ามระหว่าง พันธุ์ China no.1 กับพันธุ์ EC36892 ในปี 2536 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น จากนั้นทีมนักปรับปรุงพันธุ์ได้ทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ถึง 5 ชั่วรุ่น ซึ่งมีการปลูกเปรียบเทียบกับ พันธุ์ไทนาน9 และ พันธุ์ขอนแก่น 5 โดยเปรียบเทียบเบื้องต้น 4 แปลงทดลอง พร้อมเปรียบเทียบมาตรฐาน 10 แปลงทดลอง อีกทั้งยังปลูกเปรียบเทียบในท้องถิ่น 12 แปลง และแปลงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ สงขลา จำนวน 16 แปลง นอกจากนั้นยังได้ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ รวมถึงปฏิกิริยาของพันธุ์ต่อโรคโคนเน่าขาว โรคราสนิม โรคใบจุด และโรคยอดไหม้ และยังศึกษาลักษณะการเจริญเติบโต อัตราประชากร และการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีด้วย

นางสมจินตนา ทุมแสน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 84-7 มี ลักษณะประจำพันธุ์ คือ มีลำต้นเขียว ใบสีเขียวเข้ม ทรงพุ่มแผ่กว้าง ลักษณะการแตกกิ่งแบบ alternate branching มีดอกสีเหลือง การติดฝักค่อนข้างกระจายรอบโคนต้น เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพู เส้นลายบนฝักเห็นได้ชัดเจน อายุถึงวันออกดอก 28-30 วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยว 98-125 วัน จำนวนฝักต่อหลุม ประมาณ 25-30 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 1-2 เมล็ด การกะเทาะ 60-64 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีโปรตีน 18 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมัน 50 เปอร์เซ็นต์

ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่นี้มี ลักษณะเด่น ที่ให้ผลผลิตฝักแห้งสูงถึง 315 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ไทนาน 9 ประมาณ 15% และสูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น 5 ประมาณ 10% ทั้งยังมีขนาดเมล็ดโต โดยน้ำหนัก 100 เมล็ดเท่ากับ 54.3 กรัม ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 5 ประมาณ 24% และ 13% ตามลำดับ นับว่ามีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดี สามารถปลูกได้โดยทั่วไปของสภาพการผลิตถั่วลิสงในประเทศไทย

สำหรับการปลูกถั่วลิสงพันธุ์ขอน แก่น 84-7 ใช้อัตราปลูก 48,000 ต้น/ไร่ มีระยะระหว่างแถว 40 เซนติเมตร หยอด 3 เมล็ด/หลุม ห่างกัน 25 เซนติเมตร หรือหยอดให้มีจำนวนต้น 15 ต้น/เมตร เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 15-15-15 อัตรา 15 กิโลกรัม/ไร่ อย่างไรก็ตาม ถั่วลิสงพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ต้านทานปานกลางต่อ โรคราสนิมและใบจุดดำ ค่อนข้างทนทานต่อ โรคโคนเน่าขาว แต่อ่อนแอต่อ โรคยอดไหม้ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหมั่นดูแลแปลงอย่างสม่ำเสมอ

หากสนใจหรือต้องการเมล็ดพันธุ์ “ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 84-7” สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โทร. 0-4320-3506, 0-4320-3508.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

“หญ้าแฝก” กำแพงมีชีวิต ฟื้นฟูดินและน้ำ

วันอังคาร ที่ 09 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

การชะล้างพังทลายของดิน เป็นปัญหา ที่สำคัญต่ออาชีพเกษตรกรรมของประเทศ ผลจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินอันเนื่องมาจากฝนตกหนัก และน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรง ทำให้ผิวดินถูกกัดเซาะจนสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ดินพังทลาย ส่งผลเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น จวบจนถึงปัจจุบัน “หญ้าแฝก” ได้พลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับผืนดิน นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ได้มีที่ทำกินกันอย่างยั่งยืน

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการผลิตกล้าหญ้าแฝกเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรและประชาชนได้นำไปปลูก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการ ทั้งในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์หญ้าแฝกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่าง ๆรวมทั้งการขยายพันธุ์ให้เพียงพอสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน ส่งเสริมการปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ แก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), มูลนิธิชัยพัฒนาในการรณรงค์กระจายพันธุ์หญ้าแฝกไปยังสถานที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังจัดงานประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้หันมาสนใจและเห็นถึงคุณประโยชน์ของการนำหญ้าแฝกไปใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำกันมากขึ้น

“การนำหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่ที่ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างเช่นยางพารา หรือบนพื้นที่เกษตรที่มีความลาดชัน เช่น ภูเขา สามารถช่วยป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลายได้ หญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงอยากรณรงค์ให้เกษตรกรและประชาชนหันมาสนใจในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกมากขึ้น เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ แล้วตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการปลูกหญ้าแฝกได้ผลดี มีอัตราการรอดสูง” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

ด้าน ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ ศูนย์ปฏิบัติการหญ้าแฝก กรมพัฒนาที่ดินกล่าวถึงพันธุ์หญ้าแฝกซึ่งมีอยู่มากมายว่าพันธุ์หญ้าแฝกที่นักวิชาการค้นพบเก็บรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2536 จากทั่วประเทศ ในตอนแรกมีประมาณ 40 พันธุ์ด้วยกัน จากนั้นเมื่อนำมาศึกษาในเชิงวิชาการแล้วจำแนกพันธุ์ใหม่ ก็คัดเลือกมาได้ 28 สายพันธุ์ และได้ทำการคัดเลือกต่อ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับสั่งไว้ว่าควรจะต้องคัดสายพันธุ์ที่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและต้องเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตได้ดีมีความแข็งแรง เพื่อจุดประสงค์หลักในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และจากการคัดเลือกในครั้งนั้นก็ทำให้เหลือพันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะเด่นสามารถนำไปปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวน 10 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยแบ่งเป็นออกเป็น 2 ชนิด คือแฝกลุ่ม และ แฝกดอน ซึ่งพันธุ์ลุ่มที่ตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบคือ พันธุ์ศรีลังกา, กำแพงเพชร, สุราษฎร์ธานี, สงขลา และพันธุ์ดอน คือ พันธุ์เลย,นครสวรรค์, กำแพงเพชร 1, ร้อยเอ็ด, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์

“แต่ละพื้นที่ แต่ละภาคเหมาะกับสายพันธุ์ต่างกัน พันธุ์ลุ่มไม่จำเป็นว่าจะต้องปลูกในที่ลุ่มเสมอไป แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ดอนด้วย ขณะเดียวกันพันธุ์ดอนก็ไม่จำเป็นต้องปลูกในที่ดอนอย่างเดียว แต่สามารถปลูกในที่ลุ่มได้เจริญเติบโตได้ดี ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละพันธุ์ เช่นพันธุ์ลุ่มนั้นค่อนข้างจะเจริญได้รวดเร็ว ตั้งตัวได้ดี มักจะชอบน้ำ แล้วก็ไม่ค่อยทนหากกระทบกับความแล้งมาก ๆ ในทางตรงข้ามพันธุ์ดอนจะเจริญเติบโตช้ากว่า แต่จะมีความทน สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีกว่า เก่งคนละอย่าง” ดร.พิทยากร กล่าว

พันธุ์หญ้าแฝกที่ส่งเสริมกัน ส่วนมากแล้วจะใช้พันธุ์ลุ่มและพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือพันธุ์สุราษฎร์ธานีและสงขลา อย่างภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องดินพังทลาย ก็ใช้ จะใช้พันธุ์ลุ่ม เพราะมีน้ำมาก ฝนตกบ่อย และจะเลือกใช้พันธุ์ดอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางที่ ในพื้นที่ที่เป็นดินทราย มีฝนตกน้อย ไม่สม่ำเสมอ

เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการปลูกหญ้าแฝก ติดต่อขอรับกล้าพันธุ์หญ้าแฝกฟรี ได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือที่หมอดินอาสาใกล้บ้านท่าน.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

สมุนไพร"บัวบก"คุณค่าที่มากกว่าแก้ช้ำใน

6 สิงหาคม 2554, 12:00 น.

เอ่ยชื่อสมุนไพร “บัวบก” ขึ้นมาทีไร คุณสมบัติแก้ช้ำในขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ความจริงแล้วยังมีสรรพคุณที่น่าสนใจอื่นอีกมากมาย

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรบัวบกทั้งแบบพื้นบ้านดั้งเดิม ไม่ว่าตำรายาไทย ยาจีน และงานวิจัยสมัยใหม่มาให้ ทำให้ทราบว่า

บัวบกหรือผักหนอก เป็นสมุนไพรบำรุงสมองที่คนเฒ่าคนแก่รู้จักกันเป็นอย่างดี หมอยาทุกภาคใช้บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงความจำ บำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งสรรพคุณดีที่สุดต้องใช้ผักหนอกขมซึ่งมักขึ้นตามธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งเด็กและคนแก่

ใน คัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย กล่าวว่า บัวบกทั้งต้นมีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ บำรุงเสียง ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ แก้คนเป็นบ้า โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่มีสมุฏฐานจากเสมหะ

ในอินเดียบางแคว้นกินใบบัวบกกับนมวันละ 1-2 ใบ เป็นประจำทุกวัน เชื่อว่าจะช่วยทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ช่วยให้ความจำดีขึ้น บำรุงร่างกาย บำรุงประสาทและโลหิต ส่วนการแพทย์จีน ถือว่าบัวบกคือสมุนไพรของความเป็นหนุ่มสาว
งานศึกษาวิจัยยังพบว่าบัวบกมีฤทธิ์เช่นเดียวกับแปะก๊วย ในการบำรุงสมองคือเพิ่มความสามารถความจำและการเรียนรู้ มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดในบัวบกกันแล้ว

ประโยชน์ของบัวบกยังพูดกันได้อีกยาว ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าร่วมเสวนาวิชาการ บัวบก สมุนไพรมหัศจรรย์ เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี ที่ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 11 สิงหาคมนี้ เวลา 08.00-16.00 น. งานนี้มีน้ำมันบัวบก สูตรอายุรเวท ที่ทำให้ผมดกดำ เงางาม แจกฟรี พร้อมสาธิตวิธีใช้ เพื่อนำไปมอบให้แม่เนื่องในโอกาสวันแม่ที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย.

ข่าวจาก

Thairath Online

>>>>>

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเขาชะเมา
วันศุกร์ ที่ 05 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

การก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนปฏิรูปที่ดิน ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคนพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

นายเกียรติชัย ดวงผาสุข หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฯ เล่าว่า อำเภอเขาชะเมา เป็นอำเภอที่กันดารที่สุดและมีการพัฒนาน้อยมากในจังหวัดระยอง ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านและได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ซึ่งเข้ามาให้ความรู้และนำสมาชิกศึกษาดูงานนอกพื้นที่ จากนั้นสมาชิกกลุ่มได้ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้สมาชิกมีรายได้ทุกวัน ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าจะปลูกพืช 3 ชนิด คือ 1. ปลูกไผ่ 2. ปลูกมะนาว และ 3. เลี้ยงกบ ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้จะเกื้อกูลกันได้ลงตัว อย่างเช่น การเลี้ยงกบจะมีรายได้ทุกเดือน ปลูกมะนาวจะมีรายได้ช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันช่วงแล้งที่หยุดกรีดยางพาราจะมีรายได้จากไผ่ ซึ่งสมาชิกไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่เหมือนกับที่ผ่านมา

ต่อมา ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีพื้นที่ 15 ไร่ แบ่งพื้นที่ในการปลูกพืช 3-4 ชนิด มีพืชหลักคือ การปลูกยางพารา และพื้นที่ปลูกอีก ได้แก่ มะนาวกระถาง พริกกระถาง ปลูกหน่อไม้ และพืชผักสวนครัว เหตุผลที่เลือกปลูกพืชประเภทดังกล่าว เพราะต้องการให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ทุกวัน

นายเกียรติชัย ได้เล่าถึงเทคนิคการปลูกมะนาวกระถางโดยเลือกพันธุ์ทูลเกล้า ซึ่งเป็นมะนาวที่ไร้เมล็ด มีรสชาติหอมหวาน เหมาะสำหรับคั้นน้ำมะนาว ให้ฟังว่า เทคนิคที่เป็นหัวใจหลักของการปลูกมะนาวกระถางอยู่ที่การใช้การเลือกกระถาง เกษตรกรอาจจะเลือกใช้กระถางขนาดใหญ่ วงบ่อซีเมนต์หรือยางรถยนต์ที่แปรสภาพเป็นกระถางก็ได้แต่ทั้งหมดต้องมีช่องระบายน้ำ แต่ต้องหาวัสดุรองก้นกระถางเพื่อป้องกันไม่ให้รากลงดิน เพราะจะไม่สามารถบังคับให้มะนาวออกดอกนอกฤดูได้

ซึ่งดินที่ใช้ปลูกต้องร่วนซุย อาจใช้ดิน 2 ส่วนผสมปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การจัดการดูแลก่อนออกดอกต้นมะนาวที่จะใช้ผลิตมะนาวนอกฤดูควรมีอายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน มีการจัดการให้น้ำให้ปุ๋ยและป้องกันกำจัดโรค แมลง เป็นอย่างดี มีสภาพต้นสมบูรณ์ ใบตันไม่แตกใบอ่อน การทำมะนาวออกนอกฤดูจะเริ่มในช่วงเดือนสิงหาคม โดยการควบคุมน้ำให้ได้รับน้ำน้อยลงแต่เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงต้องควบคุมน้ำด้วยวิธีใช้พลาสติกคลุมโคนต้นปากกระถางประมาณ 15 วัน

หรือสังเกตจากใบที่เริ่มเหี่ยวเป็นสีเหลือง จึงให้น้ำตามปกติ พร้อมปุ๋ยเร่งดอก หลังจากนั้นมะนาวจะเริ่มแตกยอดและดอกออกมา หลังติดผลแล้วควรไว้ผลอย่าให้ดกเกินไปเพราะต้นจะโทรมเร็ว ให้น้ำ ปุ๋ยตามปกติ กระทั่งเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ข้อดีของมะนาวนอกฤดู ผลิตมะนาวนอกฤดูได้ง่าย ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ใช้พื้นที่ปลูกน้อยและสามารถผลิตขายได้ทั้งต้นและผลปัจจุบันศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนปฏิรูปที่ดิน ได้จัดทำ โครงการ “1 ไร่1 วัน 1 พันบาท” ในวาระที่กลุ่มฯ ครบรอบในการก่อตั้ง 2 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม และฝึกปฏิบัติจริง เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป

“การจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวต้องการใช้โอกาสที่ภาคหยิบยื่นให้มาให้เป็นประโยชน์อย่างยาวนานและยั่งยืน ไม่ใช่ให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างเดียว ดังนั้นองค์ความรู้ที่รัฐหยิบยื่นให้อยากให้ทุกคนนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังเพราะคือกำไรชีวิต และสร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวต่อไปในอนาคต” นายเกียรติชัย กล่าว.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ฟื้นภูมิปัญญาติดตายางที่หลุมปลูก

วันอังคาร ที่ 02 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

ยางพารา จัดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้มายาวนาน แต่เนื่องด้วยปัจจุบันในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของไทย สามารถที่จะปลูกยางพาราให้เป็นพืชเศรษฐกิจกันมากขึ้น ทำให้ความต้องการต้นกล้าพันธุ์ยางมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว…จนดูเหมือนว่า ขณะนี้ยางชำถุงดูเหมือนจะขาดตลาด

นายศุภมิตร ลิมปิชัย นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางสงขลา กล่าวว่า จริง ๆ แล้วในขณะนี้ต้นกล้าพันธุ์ยางโดยเฉพาะยางถุงยังคงหาซื้อได้ตามแหล่งผลิตโดยทั่วไป ไม่ได้ขาดตลาดจนหาซื้อไม่ได้ตามที่มีกระแสข่าวออกมา ยังคงมีเพียงพอจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน อีกทั้งราคายังสูงอยู่ อาจจะทำให้เกษตรกรตัดสินใจซื้อ หรือหาซื้อที่ราคาถูกกว่ายากขึ้น จนมองว่ากล้าพันธุ์ยางขาดตลาด

นายศุภมิตร ระบุว่า ราคายางถุงที่จำหน่ายกันอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบัน อยู่ที่ถุงละกว่า 40 บาท หากจำหน่ายในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานราคาต่อถุงจะสูงกว่า 50 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้าพันธุ์ยางทางภาคใต้ที่นำไปจำหน่าย แต่เพื่อลดปัญหาดังกล่าวจึงแนะนำให้เกษตรกร ใช้วิธีติดตาที่หลุมปลูก แทน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร

....ซึ่งหากทำได้เท่ากับว่าจะช่วยลดต้นทุนลง รวมถึงลดปริมาณความต้องการต้นยางชำถุงที่มากขึ้นลงได้ด้วย เพราะเกษตรกรจะมีทางเลือกใหม่เพิ่มอีกทางหนึ่ง…

“อยากจะแนะนำเกษตรกรเรื่องของการนำเมล็ดยางมาเพาะในหลุมปลูก หรือที่เรียกกันว่าปลูกแบบสอง หรือปลูกเมล็ดเพื่อติดตาที่หลุมปลูก ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีดั้งเดิมตั้งแต่ในอดีตที่เคยทำกันมานาน แต่การดูแลรักษาต้นกล้านั้นนานพอสมควร ทำให้เกษตรกรไม่นิยมใช้วิธีนี้ จนปัจจุบันวิธีนี้เลือนหายไป อย่างไรก็ตามเมื่อเจอกับสถานการณ์อย่างนี้ วิธีการดังกล่าวก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกได้ และยังได้ต้นยางที่มีระบบรากที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกด้วย”

นายศุภมิตร ยังระบุอีกว่า สำหรับกล้าพันธุ์ยางแต่ละพันธุ์จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และภูมิประเทศแตกต่างกัน อย่างเช่น กล้าพันธุ์ยาง RRIM 600 ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีฝนตกชุกหนาแน่น อย่างในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ตราด ที่มีฝนตกชุก ซึ่งจะง่ายต่อการเกิดโรคระบาดในยางพารา โดยเฉพาะเชื้อโรคใบร่วงไฟทอปทอร่า โรคเส้นดำ โรคราสีชมพู และโรคใบจุดคอลเลโท
ตริกัม

ส่วน กล้าพันธุ์ยาง RRIT 251 ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในพื้นที่ลมแรง พื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง และพื้นที่หน้าดินตื้น เพราะต้นยางมีทรงพุ่มใหญ่จะโค่นล้มได้ง่าย ขณะที่ กล้าพันธุ์ยาง RRIT 408 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์นี้ก็ไม่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น ส่วนข้อจำกัดอื่น ๆ ไม่มีปัญหามากนัก

...ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ต้องการจะปลูกยางพารา ก็ควรที่จะศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศของตนเองอย่างละเอียดก่อน เพื่อให้ได้กล้าพันธุ์ยางที่เหมาะสมกับพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศ แล้วจะได้ต้นยางพาราที่ดีมีคุณภาพในการสร้างผลผลิตให้กับเราอย่างคุ้มค่า.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ฝายใต้ดิน อีกก้าวของการพัฒนาแหล่งน้ำ

วันจันทร์ ที่ 01 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

กรมชลประทาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทัพหน้าของหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาแหล่งน้ำ พยายามค้นคว้าวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อบรรเทาปัญหาในเรื่องน้ำให้กับประชาชน ล่าสุดกรมชลฯประสบผลสำเร็จอีกระดับหนึ่งในการสร้างฝายใต้ดิน โดยได้นำร่องก่อสร้างไปแล้วในพื้นที่จังหวัดตากกว่า 500 แห่ง

นายชัชวาล ปัญญาวาทีนันท์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน อธิบายว่า ฝายประเภทนี้มีข้อดีตรงที่สามารถแก้ปัญหา
ได้ตรงจุด เหมาะสำหรับสภาพภูมิประเทศที่ไม่มีน้ำไหลในช่วงฤดูแล้ง บริเวณที่มีลำห้วยหรือคลองธรรมชาติที่ไม่กว้างมากนัก หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะจะพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำ

ฝายใต้ดิน จะใช้วัสดุในการก่อสร้างคือ ดินเหนียวและหินใหญ่ บางครั้งจึงเรียกว่า ฝายแกนดินเหนียว มีลักษณะการทำงานคล้าย ๆ กับฝายแม้ว หรือฝายต้นน้ำลำธาร แต่แตกต่างกันตรงที่ฝายแม้วชะลอน้ำไว้เหนือพื้นดิน ส่วนฝายแกนดินเหนียวชะลอและกักเก็บน้ำให้ขังใต้พื้นดินที่เป็นดินทราย

สำหรับการก่อสร้าง ฝายใต้ดินหรือฝายแกนดินเหนียวนั้น นายชัชวาล กล่าวว่า หลังจากการสำรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างเสร็จ ก็จะทำการขุดชั้นทรายตามแนวขวางของลำน้ำออกให้ลึกจนถึงระดับพื้นหินดาน ความกว้างของฐานแกนดินเหนียวมีขนาดประมาณ 2 เมตร สำหรับความลึก 3 เมตร แต่ถ้าหากต้องขุดลึกมากกว่า 3 เมตร จะต้องเพิ่มความกว้างของฐานแกนดินเหนียวอีก 0.5 เมตรต่อความลึกที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 เมตร

จากนั้นก็จะถมดินเหนียวและบดอัดด้วยแรงคนเป็นชั้น ๆ ชั้นละประมาณ 5-10 เซนติเมตร ทีละชั้น ๆ จนถึงระดับพื้นผิวบนของลำห้วย โดยให้แกนดินเหนียวด้านบนมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เมื่อเสร็จแล้วก็กลบทรายทั้งสองข้างของแกนดินเหนียวที่บดอัดให้เสมอกับผิวบนของดินเหนียว ขั้นตอนสุดท้ายปูทับด้วยหินเรียงหนาประมาณ 25–30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในช่วงฤดูฝนและป้องกันไม่ให้สัตว์เหยียบย่ำชั้นบนของฝายเสียหาย

การก่อสร้างฝายใต้ดินนั้น ต้นทุนการก่อสร้างค่อนข้างต่ำ โดยกรมชลประทานจะให้ใช้แรงงานในพื้นที่ช่วยกันทำงาน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ราษฎรมีรายได้เสริม รวมทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่นอีกด้วย ส่วนการบำรุงรักษานั้นก็ไม่ยาก แต่ละปีจะมีการปรับเกลี่ยทราย ทั้งด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำของฝายแกนดินเหนียวให้ราบเรียบเสมอพื้นลำห้วย เพื่อมิให้เกิดการกัดเซาะสะสมเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว” นายชัชวาลกล่าว

สำหรับการก่อสร้างฝายใต้ดินหรือฝายแกนดินเหนียวใต้พื้นทรายแห่งแรกนั้น กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดตากดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 โดยได้นำร่องก่อสร้างที่บริเวณคลองแม่ระกา ต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและสภาพทางธรณีวิทยา เป็นดินลูกรังและดินทรายทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำที่ตกลงมาในฤดูฝนไว้ได้ หากฝนตกมากก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหลากทันที ในทางตรงกันข้ามพอถึงฤดูแล้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภค

นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดสร้างฝายใต้ดินดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัดตาก ซึ่งเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำในเชิงอนุรักษ์ โดยผสมผสานระหว่างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภูมิ ปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เงินลงทุนไม่มากนักแต่ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมหาศาล เนื่องจากฝายใต้ดินสามารถเก็บกักและชะลอน้ำใต้ดินชั้นบนที่ขังอยู่ใต้พื้นทรายได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นให้กับผืนดินบริเวณรอบข้าง

โดยแรกเริ่มที่เราสร้างนั้นต้องการเพียงเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่กลับสามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้ไปใช้เพื่อการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ฝายยังช่วยรักษาและเพิ่มระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น บ่อน้ำตื้นของราษฎรบริเวณข้างเคียงมีน้ำใช้ได้ยาวนานขึ้น และยังมีผลพลอยได้อีกประการคือช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้เกิดความชุ่มชื้น คืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย” นายวีระ กล่าว

หากหน่วยงานใดสนใจข้อมูลหรือจะก่อสร้างฝายใต้ดินสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการชลประทานตากโทรศัพท์ 0-5555-2249 และ 0-5555-2250 ในวันและเวลาราชการ.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

'ยางนา'...ไม้สารพัดประโยชน์

วันจันทร์ ที่ 01 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

ไม้ยางนาประเทศไทย ได้ถูกตัดฟันไปใช้สอย และทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่า หากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริม และดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางนาอาจจะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ” พระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2504

ไม้ยางนา มีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น จัดว่าเป็นไม้สารพัดประโยชน์มีความผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ประโยชน์ของไม้ยางนา มีหลากหลายเนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป ทำฝา พื้น เพดานรอด ตง และเครื่องเรือนต่าง ๆ หากอาบหรืออัดน้ำยาจะมีความทนทานสูง เหมาะสำหรับใช้งานภายนอก เช่น เสา รั้ว ตัวถังเกวียน และไม้หมอนรองรางรถไฟ

นอกจากนี้น้ำมันยาง ใช้ทาไม้ ยาแนวเรือ ภาชนะต่าง ๆ กันน้ำรั่ว ใช้ทำไต้จุดไฟให้แสงสว่าง ใช้เติมเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ใช้ผสมกับยางไม้ชนิดอื่น ๆ แทนกาวจับสัตว์ ใช้ทาสีบ้านชักเงา ทำชันยาง หมึกพิมพ์ รวมทั้งใช้ทำน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนในแง่สมุนไพร น้ำมันและใบไม้ยางนา สามารถนำมาใช้ใส่แผลห้ามหนอง แก้โรคเรื้อน ใบใช้ต้มน้ำดื่มขับเสมหะในลำคอ แก้ปวดฟันขับปัสสาวะ และแก้โรคหนองใน เปลือกต้มน้ำกินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด หรือถูนวดขณะร้อนแก้ปวดตามข้อ ด้านคุณค่าทางอาหาร แม้ยางนาโดยตัวมันเองจะใช้เป็นอาหารไม่ได้ แต่ป่ายางนามักจะเป็นแหล่งอาหารอันโอชะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเห็ดยาง เห็ดเผาะ เห็ดไข่เหลือง และรังผึ้ง และประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของไม้ยางนาก็คือคุณค่าทางนันทนาการ เพราะยางนาเป็นไม้ที่มีลำต้นสูงใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า มีอายุยืนยาว จึงมีการปลูกไม้ยางนา เพื่อให้ร่มเงาตามสถาบันการศึกษา ศาสนสถาน และริมถนนหนทางสายต่าง ๆ
ด้วยคุณค่านานาประการของไม้ยางนา แต่การปลูกและการศึกษาวิจัยด้านการปลูกสร้างสวนป่ายางนาในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก

นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เนื่องด้วยปี พ.ศ. 2554 เป็นปีแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้ในฐานะหน่วยงานราชการที่มีภารกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ จึงได้ถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้ จัดทำโครงการ “น้อมเกล้าสดุดี 84 พรรษาร่วมปลูกยางนา ถวายองค์ราชัน” ขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน กำหนดจัดกิจกรรมเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และดำเนินการปลูกยางนาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 84 แปลง เพื่อเป็นแปลงสาธิตในการอนุรักษ์ยางนา อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน และกรมป่าไม้จะได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 ต่อไป

ก่อนหน้านี้กรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่ายางนากลางอ่าว “แหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมตามธรรมชาติของไม้ยางนา” ภายใต้โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมตามธรรมชาติของพันธุ์ไม้ป่าในประเทศไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 สำหรับป่ายางกลางอ่าว หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “วนอุทยานประจวบคีรีขันธ์” มีเนื้อที่ 1,206 ไร่ ซึ่งทางราชการโดยกรมป่าไม้ร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าเมื่อปี พ.ศ. 2485 ป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2492 และวนอุทยานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2517 มีต้นไม้ยางนารวมประมาณ 6,252 ต้น เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มียางนาสมบูรณ์

หากเกษตรกรรายย่อยผู้สนใจจะปลูกยางนาสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ประจำจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เกือบทุกจังหวัด.

จี๊จ๊ะ เจ๊าะแจ๊ง

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

"มะนาวแป้นพิจิตร" สายพันธุ์ดี ปลูกกระถางติดผลได้
Pic_188016
มะนาวแป้นพิจิตร
ผมเคยเขียนถึง “มะนาวแป้นพิจิตร” ไปแล้ว แต่ยังมีผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมากอยากทราบว่า มะนาวสายพันธุ์นี้มีที่มาอย่างไร มีข้อดีและหาซื้อกิ่งพันธุ์ได้จากแหล่งไหน ซึ่งในช่วงที่เคยแนะนำในคอลัมน์นั้นมีผู้นำกิ่งตอนของ “มะนาวแป้นพิจิตร” ออกวางขายกันเยอะ และได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกอย่างกว้างขวาง ต่อมา กิ่งตอนของ “มะนาวแป้นพิจิตร” ได้ขาดหายไป ทำให้หาซื้อไปปลูกได้ยาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อ่านไทยรัฐต้องการทราบแหล่งจำหน่ายกิ่งพันธุ์และรายละเอียดความเป็นมาของ “มะนาวแป้นพิจิตร” จึงสอบถามแหล่งขยายพันธุ์ ไม้หลายแห่ง ทราบว่าที่ “สวนประภาสไม้ผล” ของ “คุณประภาส สุภาผล” บ้านอยู่เลขที่ 33/4 หมู่ 7 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้ตอนกิ่งพันธุ์มะนาวพันธุ์ดังกล่าวเอาไว้เยอะ และยังบอกอีกว่า “มะนาวแป้นพิจิตร” สามารถปลูกลงโอ่งมังกรมีดอกติดผลดก ไม่ต่างจากการปลูกลงดิน มีผลให้เก็บใช้ประโยชน์ได้ตลอดปีด้วยโดยการปลูกลงโอ่งมังกรมีวิธีง่ายๆ คือ ปรุงดินปลูกให้โปร่งและร่วน ทำทางระบายน้ำก้นกระถางให้ดี อย่าให้ มีน้ำท่วมขังได้อย่างเด็ดขาด หลังจากนำต้นลงปลูกแล้ว ต้องนำโอ่งมังกรตั้งสูงเหนือพื้นดินพอประมาณ และตั้งในที่แจ้งมีลมพัดโกรกดีตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็นบำรุงปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยขี้วัวขี้ควายแห้งโรยตามหน้าดินรอบโคนต้นเดือนละครั้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอ ภายในเวลา 6 เดือน จะมีดอกและติดผลดกเป็นพวงตามภาพประกอบคอลัมน์ส่วนสาเหตุที่ทำให้ “มะนาวแป้นพิจิตร” ปลูกลงโอ่งมังกรแล้วมีดอกติดผลภายในเวลา 6 เดือน เนื่องมาจากกิ่งพันธุ์ที่ปลูกเป็นการขยายพันธุ์โดยวิธีทาบกิ่งและเสียบยอด โดยใช้ต้นส้มโอที่เกิดจากการเพาะเมล็ด ทำเป็นต้นตอในการทาบกิ่งและเสียบยอดนั่นเอง เลยทำให้เมื่อติดรากแข็งแรงแล้ว นำไปปลูกได้โตเร็วและมีดอกติดผลตามเวลาดังกล่าว ใครที่ต้องการกิ่งพันธุ์ไปปลูกติดต่อ “คุณประภาส สุภาผล” ได้ ตามที่อยู่ข้างต้น หรือ โทร. 08–8533–2299 หรือไปชมต้นจริงได้ที่งาน ไทยแลนด์ เบส ช็อปปิ้งแฟร์ เมืองทองธานี บูธสวนประภาสไม้ผล จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 23–31 ก.ค.นี้มะนาวแป้นพิจิตร เป็นมะนาวที่ผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ โดยนักวิชาการของไทยจากศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ใช้มะนาวแป้นรำไพเป็นต้นแม่พันธุ์ผสมกับมะนาวน้ำหอม มีลักษณะเด่นคือ ทนต่อโรค แคงเกอร์ ได้ดี ปลูกง่าย ต้นเตี้ย มีดอกติดผลตลอดปี ติดผลเป็นพวง ผลใหญ่ ผิวผลสวย ให้น้ำต่อผลเยอะ น้ำมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวจัดครับ."นายเกษตร"ข่าวจากThairath Online>>>>>
แนะตัดสับปะรดสุกพอดีป้องกันสารไนเตรตตกค้าง
วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

การเก็บสับปะรดส่งขายโรงงานในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหาสารไนเตรตตกค้างในผลสับปะรด เนื่องจากเกษตรกรบางรายใช้สารหรือปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบมากเกินความจำเป็นทำให้มีสารไนเตรตตกค้างในผลสับปะรด ซึ่งหากประเทศผู้นำเข้าสับปะรดกระป๋องตรวจพบสารไนเตรตเกินปริมาณที่กำหนดจะส่งสินค้าคืนทันที ประเทศไทยจะสูญเสียลูกค้าและถูกแย่งตลาดในอนาคตจากประเทศคู่แข่ง

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการป้องกันปัญหาดังกล่าวว่าเพื่อป้องกันปัญหาสารไนเตรตตกค้างในผลสับปะรด กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้เกษตรกรเก็บสับปะรดสุกพอดีเท่านั้น อย่าเก็บสับปะรดดิบส่งโรงงาน รวมทั้งปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อลดปริมาณไนเตรตในผลสับปะรด คือ ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหลังการบังคับดอกแล้ว และไม่ทำลายจุกสับปะรดก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดเร่งสับปะรดสุกก่อนกำหนด ส่วนการเก็บสับปะรดสุกพอดีไม่น้อยกว่า 25% หรือสุกตั้งแต่ 2-3 ตาขึ้นไปจำหน่าย

ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง และเศรษฐกิจของประเทศ.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

น้ำคือชีวิต

วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

การมีน้ำมากไป หรือมีน้ำไม่พอ มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา การนำทรัพยากรน้ำไปใช้ทำกันไม่ถูกต้อง การจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ก็เช่นกัน เกิดการแย่งชิงแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ เป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหาย มีผลกระทบที่รุนแรงต่อปริมาณน้ำเพื่อการบริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม

สภาพการณ์นี้จะเลวร้ายลง ยามใดที่เรามีปัญหาอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและฤดูกาลต่าง ๆ ของโลก ที่สำคัญคือน้ำท่วมและความแห้งแล้ง ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน เป็นทับทวี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นวิธีการแก้ปัญหา และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยแทบทั้งสิ้น

พระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำอยู่เสมอ คือการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทรงรอบรู้เรื่องการจัดการน้ำทุกรูปแบบ และทรงสนพระหฤทัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้พระราชทานพระราชดำริโครงการที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำมากมายที่ปรากฏในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริครอบคลุมปัญหาในทุก ๆด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มจากการสงวนรักษาแหล่งต้นน้ำ การจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ การแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำหลาก และภัยจากน้ำทะเลท่วมล้ำแผ่นดิน ตลอดถึงการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำมาใช้ใหม่ ขอบข่ายกว้างขวางของโครงการได้ช่วยให้เกิดการกินดีอยู่ดีขึ้นในหมู่ประชาชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่กันในชุมชนเมือง ในท้องถิ่นชนบทห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง

งานอนุรักษ์แหล่งน้ำเริ่มที่พื้นที่ป่าและลำธารต้นน้ำ โดยเฉพาะในบริเวณป่าเขาต้นน้ำในภาคเหนือที่เสื่อมโทรมหรือถูกแผ้วถาง ผลสำเร็จของงานนี้คือ การตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำของบรรดาชนเผ่าต่าง ๆ ยุติลง และมีการปลูกป่าทดแทน เป็นป่าไม้ผสมที่มีทั้งไม้เพื่อรักษาความชื้นให้กับพื้นแผ่นดิน มีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์แหล่งน้ำจากผืนฟ้าและในดิน ด้วยการสร้างอ่างเก็บกักน้ำขนาดเล็กหรือฝาย กั้นขวางทางน้ำไหลในเขต ต้นน้ำลำธารตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สร้างความชุ่มชื้นให้ในพื้นที่ป่าบริเวณนั้น เกิดเป็น “ป่าเปียก”ที่ช่วยรักษาความชื้นและป้องกันไฟป่าในหน้าแล้ง ส่วนภาคใต้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จะเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาป่าพรุและป่าชายเลน ด้วยผืนป่าเหล่านี้เมื่อมีการฟื้นฟูและขุดลอกบริเวณที่ตื้นเขินแล้ว จะสามารถช่วยเก็บกักน้ำในฤดูน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง

พระราชดำริในการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ขนาดต่าง ๆ กันกระจายไปทุกภูมิภาค เพื่อช่วยเก็บกักน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการตลอดทั้งปี ทั้งการบริโภค การเพาะปลูก การชลประทานและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเกิดวิกฤติการณ์ธรรมชาติที่ไม่คาดคิดเช่น ฝนนอกฤดูกาล ภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ เขื่อนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นปราการในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติเหล่านั้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วม 65 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยและทรงมีความห่วงใยในความทุกข์สุขของราษฎร ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคกว่า 4,000 โครงการซึ่งจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนดังกล่าวประมาณร้อยละ 70 หรือกว่า 2,200 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้าติดตามผลงานเสมอมาดั่งพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ความว่า “ต้องการให้โครงการชลประทานที่สร้างเสร็จแล้วมีการจัดการเรื่องการใช้น้ำอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ”

ทั้งนี้ “น้ำคือชีวิต”เป็นหนึ่งองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จจากพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านน้ำ ได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าอดีตภายหลังที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้การช่วยเหลือ ซึ่งทั้งหมดจะได้นำมาถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบอย่างลึกซึ้งอีกครั้งในรูปของสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ชุด ประโยชน์สุขของแผ่นดิน ที่จัดทำขึ้นจากความร่วมมือของสำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. และสำนักงบประมาณ

โดยสารคดี ชุด ประโยชน์สุขของแผ่นดิน จะออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.20 น. หลังข่าวในพระราชสำนัก ทางช่อง 9 อสมท สามารถติดตามชื่นชม และน้อมนำพระราชดำริที่ได้เชิญมานำเสนอในแต่ละตอน มาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดียิ่ง.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

รณรงค์ใช้ผ้าไหมไทย

วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องผ้าไทย ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงวัฒนธรรม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 19 กระทรวงวัฒนธรรม ว่า การร่วมลงนามดังกล่าวเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมีการใช้ผ้าไหมหรือผ้าไทยในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นให้มีการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม ตลอดจนอาชีพการทอผ้าไหมให้เป็นที่มั่นคงและมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

สำหรับวัตถุประสงค์ของการลงนามในครั้งนี้ มุ่งก่อให้เกิดความร่วมมือการพัฒนาทางวิชาการทางด้านงานวิจัยการใช้ผ้าไทย เพื่ออนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติ รวมถึงการศึกษาวิจัยร่วมกันในการอนุรักษ์และต่อ ยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าไทย ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูล ให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรทั้งสามฝ่าย โดยให้เกิดความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์อีกด้วย

“ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐใส่เสื้อกระดุม 5 เม็ด หรือชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมหรือผ้าไทย เพื่อใช้ในโอกาสต่าง ๆ และเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการใช้ผ้าไหมหรือผ้าไทยในชีวิตประจำวัน และได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณารูปแบบเสื้อผ้าไทยที่เหมาะสม ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน”นางสาวสุพัตรา กล่าว.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ปุ๋ยหมักในวงบ่อซีเมนต์

วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

การทำปุ๋ยหมักใช้เองที่บ้านหรือแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไปตั้งแต่ครัวเรือน สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องเก็บและนำไปกำจัดลงได้เกือบครึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะมูลฝอยลงไปในตัว ในธรรมชาติกองกิ่งไม้ใบหญ้าและวัสดุธรรมชาติก็จะเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ และเกิดการหมักอยู่แล้ว

เช่น การที่ชาวสวนกวาดเอาใบไม้ เศษหญ้า มาสุมที่โคนต้นแล้วปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่อาจใช้เวลานาน แต่ถ้าเราควบคุมสภาพแวดล้อมให้ปัจจัยที่สนับสนุนการหมักเหมาะสมก็จะใช้เวลาน้อยลง นอกจากนี้ในบ้านพักอาศัย และหน่วยงานต่าง ๆ มีการทิ้งเศษอาหารอยู่ทุกวัน ดังนั้นถ้าสามารถนำวัสดุต่าง ๆ ที่จะทิ้งมาทำเป็นปุ๋ย ประโยชน์ที่เห็นได้ในทันทีคือ การลดภาระการขนวัสดุไปทิ้ง ไม่ต้องเผาทำลายกิ่งไม้ใบไม้ ลดภาระของเทศบาลในการกำจัดขยะ และลดการใช้ปุ๋ยเคมี ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ ช่วยปรับปรุงคุณภาพของดิน และช่วยลดภาวะโลกร้อน

รองศาสตราจารย์ บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้แนะนำขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักในวงบ่อซีเมนต์ ว่าเริ่มจากการนำบ่อปูนซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร มาวางบนอิฐหรือลูกปูน ให้ขอบล่างของบ่อปูนซีเมนต์อยู่สูง จากพื้นดิน 15 เซนติเมตร นำใบไม้แห้งหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรใส่ในบ่อปูนซีเมนต์ให้สูง 40 เซนติเมตร แล้วนำเศษอาหารมาเทใส่โดยความสูงของเศษอาหารไม่ควรเกิน 30 เซนติเมตร เมื่อใส่เศษอาหารลงไปใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วที่อยู่ด้านล่างจะยุบตัวลง แล้วนำใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วมาเททับอีกครั้ง โดยให้มีความสูงประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร หรืออาจใส่เศษอาหารเป็นชั้น ๆ ก็ได้ โดยใส่เศษอาหารสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วนำใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วมาเททับอีกครั้ง โดยให้มีความสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พลั่วตักปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งกองอยู่ด้านล่างของบ่อปูนซีเมนต์ไปใช้งานได้เลย ในระหว่างช่วงเวลาการหมัก กองปุ๋ยจะยุบตัวลง เราสามารถนำเศษอาหารมาเติมลงไปแล้วก็นำใบไม้ที่ย่อยมาเททับตามขั้นตอนที่ 2 เป็นชั้น ๆ ได้เรื่อยๆ

ประโยชน์ของปุ๋ยหมักจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปุ๋ยหมักเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารที่จะปลดปล่อยธาตุอาหาร ออกมาให้แก่ต้นพืชอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ โดยทั่วไปแล้ว ปุ๋ยหมักจะมีปริมาณแร่ธาตุอาหารพืชที่สำคัญดังนี้ คือ ธาตุไนโตรเจนประมาณ 0.4-2.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ประมาณ 0.2-2.5 เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียมในรูปที่ละลายน้ำได้ประมาณ 0.5-1.8 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณแร่ธาตุอาหารดังกล่าวจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเศษพืชที่นำมาหมัก และวัสดุอื่น ๆ ที่ใส่ลงไปในกองปุ๋ย

ถึงแม้ปุ๋ยหมักจะมีธาตุอาหารหลักดังกล่าวอยู่น้อยกว่าปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยหมักมีข้อดีกว่าตรงที่ปุ๋ยหมักยังมีธาตุอาหารพืชชนิดอื่น ๆ อีก เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก สังกะสี แมงกานีส โบรอน ทองแดง โมลิบดีนัม ฯลฯ ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ไม่น้อยกว่าธาตุอาหารหลัก เพียงแต่ต้นพืชต้องการในปริมาณน้อยเท่านั้นเอง.

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ปี 54 เดินหน้า72 โครงการอันเนื่องฯ

วันพฤหัสบดี ที่ 21 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานความช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์หลังจากทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมามีเป็นจำนวนมาก

สำนักงาน กปร.มีหน้าที่ในการสนองพระราชดำริประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินการในการสนองพระราชดำริ พร้อมกันนี้ก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบฎีกาที่ขอพระราชทานความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาทั้งในเรื่องของแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน เป็นหลักสำคัญ โดยเบื้องต้น สำนักราชเลขาธิการจะมีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน กปร. ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงของฎีกาที่ขอพระราชทาน จากนั้นสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและสรุปผลการให้ความช่วยเหลือตามข้อเท็จจริงเสนอสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพิจารณา และเมื่อเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของราษฎร จึงทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นสำนักงาน กปร. จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและรับไว้อยู่ในความรับผิดชอบในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมสนองพระราชดำริ พร้อมกับจัดทำแผนโครงการและดำเนินการตามพระราชดำริต่อไป

สำหรับในปี 2554 มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มาจากฎีกาของราษฎรในพื้นที่ทั่วทั้งประเทศถึง 72 โครงการ ประกอบด้วย โครงการขุดลอกแหล่งน้ำและก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 15 โครงการ ก่อสร้างฝายและฝายน้ำล้น จำนวน 20 โครงการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 8 โครงการ ซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำและฝาย จำนวน 2 โครงการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4 โครงการ พัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 3 โครงการ ก่อสร้างสะพานจำนวน 1 โครงการ ก่อสร้างระบบประปา จำนวน 10 โครงการ ก่อสร้างแนวคลื่นป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจำนวน 2 โครงการ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรและป้องกันอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลและสระน้ำ จำนวน 4 โครงการ และก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านจำนวน 2 โครงการ

“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มาจากฎีกาทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทางสำนักงาน กปร. ได้จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการเพื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่วางไว้ต่อไป” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

เลขาธิการ กปร.กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับด้านการเกษตร และการชลประทาน เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและค่อนข้างอยู่ในฐานะยากจน พระองค์จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรของชาติเป็นสำคัญ ดังที่ราษฎรไทยได้พร้อมกันถวายพระเกียรติว่า “กษัตริย์เกษตร”

“พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร และชลประทาน เป็นพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชาติไทย และประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนไทยประมาณร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร และส่วนมากก็เป็นชาวนาชาวไร่ หรือเป็นเกษตรกรที่ยากจน ปัญหาด้านความเดือดร้อนของราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการถวายฎีกามาอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร และการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศ จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรกรรมในทุกแขนงอย่างจริงจัง และให้นำมาใช้กับกิจกรรมด้านการเกษตรและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างถูกต้องสมบูรณ์ และครบวงจรทุกขั้นทุกตอนตลอดมา” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว.

tidtangkasey@dailynews.co.th

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

เศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.3

วันพฤหัสบดี ที่ 21 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

รายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรกของปี 2554 ว่า ยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ แต่ไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนัก โดยผลผลิตของพืชสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาพืชส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับสาขาปศุสัตว์ ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากแรงจูงใจทางด้านราคา ประกอบกับการวางมาตรการควบคุมโรคที่ดีและระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ทำให้การผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมดีขึ้น ส่วนสาขาประมงหดตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนและผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง อัตราการรอด และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3-5.3 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคต่าง ๆ มีมากกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงราคาน้ำมันที่ค่อนข้างผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกลดลง แต่ยังมีความกังวลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

'วิง บุญเกิด'กับอาชีพเลี้ยงไข่ไก่

วันพุธ ที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ประชากรไทยเกินครึ่งของประเทศจึงยึดอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่นเดียวกับทักษะความสามารถในการทำการเกษตรที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามภูมิปัญญาชาวบ้านในรูปแบบเดิม ๆ ที่อาจพอเพียงต่อการดำรงชีวิต แต่ยังไม่เพียงพอในเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกัน ความผันผวนของราคาผลผลิตเกษตรบ้านเรา ก็ถือเป็นอุปสรรค และเป็นความเสี่ยงสำคัญของเกษตรกรไทย

หากเกษตรกรไทยได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีการผลิตอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ผนวกกับภูมิปัญญาเดิมที่มี ย่อมส่งผลให้การผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาด้านความเสี่ยงของราคาผลผลิต ถ้าหากมีหน่วยงานหรือแหล่งรับซื้อผลผลิตมารองรับก็จะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการตลาดส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่แน่นอน เกิดความมั่นคงในอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา

“โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย”ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ทั้งการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ได้ส่งเสริมเพื่อเพิ่มอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ที่บ้านไม่ต้องอพยพครอบครัวออกไปหางานทำที่อื่น และสามารถใช้ที่ดินของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการลงทุนในโรงเรือนและอุปกรณ์ โดยใช้แรงงานภายในครอบครัว และสามารถทำอาชีพเสริมอย่างเช่นการปลูกผัก หรือการเลี้ยงปลา เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ทั้งนี้ เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมกับซีพีเอฟจะได้รับพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยา และวัคซีนคุณภาพสูง ที่บริษัทเป็นผู้จัดหาให้ ขณะเดียวกันเกษตรกรยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเกษตรกรจะได้รับความรู้ คำแนะนำปรึกษา และร่วมวางแผนการผลิตโดยทีมนักวิชาการของบริษัท

นายวิง บุญเกิด เจ้าของบุญเกิดฟาร์มเลขที่ 136/2 หมู่ 1 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมากว่า 13 ปี
กับอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟ จากจุด เริ่มต้นที่เรียกว่าล้มลุกคลุกคลาน กระทั่งหยัดยืนอยู่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างภาคภูมิ

“เดิมผมทำอาชีพเลี้ยงปลาช่อน ต่อมาราว ๆ ปีพ.ศ. 2534 ได้เริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่แบบอิสระ แต่ต้องยอมรับว่าการตลาดมีความผันผวนสูงมาก บางช่วงราคาดี บางตอนราคาตก สลับกันอยู่อย่างนี้ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอนเพราะเราจะต้องรับภาระความเสี่ยงด้านการตลาดเอง ตอนนั้นเรียกว่าท้อจนเกือบจะถอยอยู่แล้ว แต่เพราะมีผู้บริหารของซีพีเอฟยื่นมือเข้ามาช่วย และแนะนำว่าให้เข้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่แบบประกันราคา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2541 ซึ่งผมถือเป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิกในระบบนี้ ผมตัดสินใจตกลงทันที จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน การตัดสินใจของตัวเองในคราวนั้นไม่ทำให้ผมผิดหวัง เพราะเป็นการพลิกชีวิตของตัวเองจากติดลบกลายเป็นยืนได้มั่นคงอย่างทุกวันนี้ นั่นเพราะเราไม่ต้องเสี่ยงในการผลิตเลย บริษัทจัดหามาให้หมดทั้งพันธุ์ไก่ อาหาร ยา ในราคาประกัน ทั้งยังส่งสัตวบาลมาดูแล ที่สำคัญคือเขาเข้ามารับทุกความเสี่ยงแทนเราโดยเฉพาะด้านการตลาด สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือความใส่ใจในการดูแลไก่ไข่ของเรา ให้ผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ซึ่งนั่นเท่ากับรายได้ที่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับตัวเราเป็นผู้กำหนด ทุกวันนี้สามารถคำนวณรายได้ต่อวัน ต่อเดือน ต่อปีของเราได้เลย” เกษตรกรตัวอย่างเล่าย้อนอดีตด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

รายได้จากการขายไข่ไก่ จากแม่ไก่ไข่ 54,000 ตัว ที่ให้ผลผลิตมากกว่า 50,000 ฟองต่อวัน รวมกับ รายได้จากการจำหน่ายปลานิลและปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อข้างเล้าไก่ปีละกว่า 200,000 บาทและรายได้จากการขายมูลไก่สด ให้กับพี่น้องชาวไร่ชาวนาในชุมชน เดือนละกว่า 50,000 บาท น่าจะเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จจากความอุตสาหะพยายามของเกษตรกรผู้นี้ และความสำเร็จของระบบที่ซีพีเอฟเข้ามารับความเสี่ยงแทนเกษตรกรได้เป็นอย่างดี.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านเหล่านกยูง อ.เมือง จ.สกลนคร

วันเสาร์ ที่ 16 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น
นายขวัญใจ แก้วหาวงศ์ เกษตรกรบ้านเหล่านกยูง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จบการศึกษาชั้น ป.4 ปัจจุบันอายุ 61 ปี ประกอบอาชีพทำการเกษตรมาโดยตลอดจนในปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าศูนย์เรียนรู้ฯ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ และได้รับการสนับสนุนขุดสระน้ำเพื่อทำการประมง จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ใช้พื้นที่ของตนเองจำนวน 20 ไร่ ทำการเกษตรอย่างครบวงจร ทั้งปลูกพืชไร่ พืชสวน พืชผัก ไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 5 คนนายขวัญใจเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเกษตรกรขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 25,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วและนำสิ่งที่ได้รับการเรียนรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาปฏิบัติใช้โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดทำการเกษตรแบบครบวงจรทำให้รายได้เฉลี่ยในครัวเรือนประมาณ 59,440 บาทต่อปีโดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ทำเป็นแปลงเกษตรผสมผสานเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย พื้นที่ทำนา 16 ไร่ ทำสวน 2 ไร่, บ่อทฤษฎีใหม่และที่อยู่อาศัย 2 ไร่ นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสมผสานกับวิชาการสมัยใหม่ทำการเพาะปลูกพืชและประสบความสำเร็จปัจจุบันสวนเกษตรแห่งนี้ทำรายได้ให้เจ้าของสวนไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท เฉลี่ยเดือนละ 25,000-30,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาลการให้ผลผลิตของพืชแต่ละชนิดที่ปลูกในพื้นที่ มีการปลูกอ้อยแล้วตัดนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยสดจำหน่ายในพื้นที่ จังหวัดสกลนคร ในราคาขวดละ 40 บาท โดยอ้อย 1 ลำจะคั้นได้น้ำ 1 ขวด เป็นอ้อยที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ น้ำอ้อยจึงมีรสชาติดีและมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จนวันหนึ่ง ๆ ผลิตจำหน่ายไม่ทัน โดยเฉพาะที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันมีประชาชนโดยทั่วไปเดินทางเข้าเที่ยวชมในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ก็สั่งซื้อน้ำอ้อยคั้นจากที่แห่งนี้ไปจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรขยายผลของศูนย์ฯ และเป็นการแนะนำให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่สนใจได้ศึกษาแนวทางเพื่อนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนต่อไปอีกด้วยนับเป็นเกษตรกรต้นแบบแห่งเทือกเขาภูพานที่ได้น้อมนำพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาปฏิบัติใช้ให้เกิดประโยชน์ในแผ่นดินที่เป็นที่ทำกินของตัวเอง จนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้ผู้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในที่ดินทำกินของตัวเองต่อไป.
ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ปรับระบบมาตรฐาน ฟาร์มสุกรรายย่อย

วันจันทร์ ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

คนไทยนิยมบริโภคเนื้อสุกรเป็นอาหารหลัก โดยในปี 2553 มีสถิติการบริโภคเนื้อสุกรอยู่ที่ประมาณ 853 พันตัน หรือประมาณ 13 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการผลิตสุกรในประเทศร้อยละ 99 จะเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นและค่อนข้างผันผวน ซึ่งราคาจำหน่ายที่สูงนี้เองจึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงสุกรกันมากขึ้น ทั้งในระดับการเลี้ยงในครัวเรือน ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมรายย่อยและขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี

นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเลี้ยงสุกรต้องมีระบบการจัดการฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกรที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากถ้าเกษตรกรหรือผู้เลี้ยงไม่มีการจัดระบบฟาร์มที่เหมาะสมหรือไม่มีการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ที่ดีพอ อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในสุกรได้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย และอาจทำให้เกษตรกรประสบกับภาวะขาดทุน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่มีการเลี้ยงสุกรรายละ 1–20 ตัว ซึ่งยังไม่มีระบบการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ดีพอ

ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การระบาดของ โรคพีอาร์อาร์เอส หรือ โรคเพิร์ส รุนแรงเมื่อกลางปี 2553 ทำให้มีสุกรป่วยและตายจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงและการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐาน ทำให้มีการนำสุกรที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคที่ไม่มีการตรวจโรคเข้าฟาร์ม ตลอดจนปล่อยให้รถรับซื้อสุกร รถขนอาหารสัตว์ และบุคคลภายนอกเข้ามาในฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกรโดยง่าย อีกทั้งมีการนำสุกรพ่อแม่พันธุ์เข้ามาผสมในฟาร์มโดยที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ล้วนเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้ามาในฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกรได้ทั้งสิ้น

กรมปศุสัตว์ เล็งเห็นว่าการที่จะป้องกันโรคระบาดสำหรับฟาร์มสุกรรายย่อยได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่จะต้องมีระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ซึ่งไม่เฉพาะกับโรคที่มีการระบาดที่เกิดขึ้นในอดีตหรือในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่หรือเข้ามาใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะโรคที่อาจติดต่อมาสู่คน

ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการจัดทำโครงการปรับระบบมาตรฐานการเลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาด ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องโดยจัดทำเป็นฟาร์มสาธิตแล้วที่จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดแรก เพื่อสร้างเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้ในฟาร์มของตนเอง อย่างไรก็ตาม กรมฯ กำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานของการเลี้ยงสุกรรายย่อยที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อจะได้ขยายโครงการไปในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

...เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยรายใดที่สนใจ สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ www.dld.go.th/dcontrol

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ฟาร์มตัวอย่างบ้านทรายทองอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

วันศุกร์ ที่ 15 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

การพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่สำคัญคือ ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงเยี่ยมสมาชิกศูนย์โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ และราษฎรในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพระองค์ทรงพบว่ายังมีราษฎรจำนวนมากที่ยังขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ขาดแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิตประสบปัญหาความยากจน ขาดแคลนที่ดินทำกินปัญหาสำคัญที่พระองค์ทรงเป็นห่วงและเน้นย้ำอยู่เสมอ ได้แก่ เรื่อง “ป่า น้ำ และการประกอบอาชีพของราษฎร” รวมถึงการให้การสนับสนุนปัจจัยผลิตในบางส่วน ตลอดจนติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พระองค์จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ราษฎรในพื้นที่และใกล้เคียงได้มีอาหารบริโภคตลอดปี อีกทั้งยังทำให้คนยากจนในชุมชนนั้น ๆ มีงานทำ มีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานยังต่างถิ่นโครงการฟาร์มตัวอย่างมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ 4 ประการ คือเป็นแหล่งจ้างงานของราษฎรที่ยากจน ไม่มีงานทำ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษให้แก่ชุมชนนั้น ๆ และในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งให้วิชาความรู้ด้านการเกษตร เป็นการเรียนรู้หรือให้ความรู้แก่ราษฎร โดยเน้นการมีส่วนร่วม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นแหล่งสาธิตเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมแก่ผู้เยี่ยมชม และผู้สนใจทั่วไปและล่าสุดทางสำนักงาน กปร. ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในฟาร์มตัวอย่างที่ทางมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษได้เข้ามาดำเนินการด้วยการพัฒนาบนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ให้เป็นฟาร์มตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้ศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองมีการทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ในพื้นที่เดียวกันแบบหมุนเวียนเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีกิจการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และปลูกป่าในพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ ฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้จะผลิตอาหารแบบปลอดสารพิษ เป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับชุมชนเพื่อราษฎรจะได้บริโภคอาหารสดถูกสุขลักษณะและอนามัยซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงโดยในระหว่างการดำเนินการนั้นนอกจากจะให้สมาชิกที่เป็นราษฎรในพื้นที่เข้ามาทำงานเพื่อมีรายได้ภายในฟาร์มแล้ว ทางฟาร์มก็ยังเปิดการฝึกอบรมให้เกษตรกรที่สนใจจากภายนอกที่เข้ามาเรียนรู้การทำฟาร์มตามที่ตนถนัดเพื่อนำไปประกอบอาชีพที่บ้านของตนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการฝึกอบรมและประสบความสำเร็จในการนำไปปฏิบัติของเกษตรกรหลายรุ่นด้วยกัน ปัจจุบันราษฎรในชุมชนบ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และราษฎรที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงต่างมีอาชีพด้านการเกษตรที่มั่นคง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดียิ่งเกษตรกรที่สนใจจะเข้ามาศึกษาดูงานหรือเรียนรู้เพื่อนำเอาความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพในที่ดินของตนเองสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา.kasettuathai@dailynews.co.th

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่นานาชาติให้การยอมรับ

วันพฤหัสบดี ที่ 14 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ครบ 65 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจนถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดความทุกข์ยากและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลอาจกล่าวได้ว่า ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ จึงทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วราชอาณาจักร อันเป็นที่ประจักษ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียสละและทรงงานเพื่อช่วยให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสพระราชทานแง่คิด ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ให้พสกนิกรชาวไทยได้เรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติในโอกาสต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเสมอมา และหนึ่งในนั้นที่สามารถเอื้อต่อทุกกลุ่มชน ทุกหมู่เหล่าและระดับชั้นตลอดถึงความอยู่รอดของประเทศชาติและสังคมไทยในภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นก็คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาเพื่อชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัสแก่ชาวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2517 และได้รับการกล่าวถึงอย่างชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆเศรษฐกิจพอเพียง มีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ นักวิชาการจำนวนมากในสังคมไทยได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย จวบจนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศตนแบบยั่งยืนจากคำกล่าวของ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในงานปาฐกถาพิเศษ “84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงาน กปร. ร่วมกับ สำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงบประมาณ เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งว่า“เมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นความทรงจำที่เจ็บช้ำของประชาชนชาวไทย บ้านเมืองย่อยยับ โดยเริ่มจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วลามไปทั้งระบบ ก่อนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยพบแต่ความเจริญเติบโตอย่างไม่เคยพบมาก่อน แต่ปี 2539 ทุกอย่างจบสิ้น แล้วก็แตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งต้มยำกุ้งไปจนถึงแฮมเบอร์เกอร์ พื้นฐานของความจริงที่ว่าทำไมพระองค์ท่านถึงสอนประชาชนไทย เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ก็เพราะหากไม่มีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทุกคนก็จะจมอยู่ในความเชื่อเก่า ๆ กิเลสเก่า ๆ อยู่ใต้จิตวิญญาณเหล่านั้น พระองค์ทรงงานอย่างหนัก เพื่อให้คนไทยเข้าใจเรื่องของดิน น้ำ ลม และไฟ ให้เห็นคุณค่า ให้รู้จักการใช้ จำนวนประชากรของโลกตอนนี้ประมาณ 7,000 กว่าล้านเกินไป 1.5 เท่า ก็จะยิ่งแย่งกันกิน แย่งกันใช้ มีการบริโภคในปริมาณที่มากขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอน การพอเพียงเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ขอเพียงมีสติสักนิดหนึ่ง จะกินอะไรคิดสักนิดหนึ่ง จะซื้ออะไรถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปซื้อ พระองค์ท่านทรงสอนขั้นตอนการปฏิบัติ โดยใช้หลัก 3 ประการอย่างง่ายๆ คือ พอประมาณ ทำอะไรประมาณตน รู้จักตัวตน การมีเหตุมีผล ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง มีภูมิคุ้มกันที่ดีให้ตนเอง”“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องของกระแสคนข้างล่างเท่านั้น ใครก็ได้ขอให้เคลื่อนตัวโดยใช้เหตุผล ปกครองประเทศโดยใช้เหตุก็จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติพอเพียงด้วย ถ้าปฏิบัติตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งก็จะพบว่า สามารถประพฤติปฏิบัติ ได้ เอาผลผลิต กำไร ความสมดุล ด้วยภูมิคุ้มกันที่ดี ทั้ง 3 คำนี้มาปฏิบัติ ก็จะไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายในโลก แต่ต้องรู้เขารู้เรา ต้องรู้ว่าคนในโลกนี้คิดอย่างไร ให้รู้หลักและลองปฏิบัติ ลองเปลี่ยนทัศนคติ พลิกความคิด พลิกทุกอย่าง พลิกความอ่อนแอให้เข้มแข็ง ให้สามารถสู้กับกิเลสตัณหาได้ แทนที่จะคิดถึงตัวเอง ลองแบ่งปันมาคิดถึงคนอื่น คิดถึงประเทศชาติบ้านเมือง ให้เกิดความรักความสามัคคี พลิกปัญหาให้เป็นทางออก พลิกทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นความสุข” นายสุเมธ ตันติเวชกุล กล่าว“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นการรู้จักใช้ทรัพยากร สิ่งของ หรือเงินทองให้เกิดประโยชน์ พอเกิดประโยชน์แล้วก็จะมีความสุข ประโยชน์สุขแก่ชีวิตเราด้วย แก่ชาติบ้านเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้ทุกคนได้เข้าใจ สิ่งสำคัญคือจะต้องนำไปปฏิบัติให้ได้ ประโยชน์สุขก็จะเกิดขึ้นกับทุกๆ คน กับประเทศชาติ และสังคมโดยส่วนรวมและในปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาศึกษาดูงานโดยเฉพาะแนวทางการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ของราษฎรไทยที่เป็นส่วนขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ทั่วประเทศเพื่อนำไปขยายผลให้กับประชากรของประเทศตนเองปฏิบัติใช้กันอย่างต่อเนื่อง.คำประกาศสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์วันศุกร์ ที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมองค์การสหประชาชาติมีความปลื้มปีติที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นรางวัลที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบหกสิบปีใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยมาตลอด เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก จึงต่างพากันขนานพระนามว่าเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ต่อพสกนิกรผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส โดยไม่ทรงแบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า ทรงรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรและพระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อให้ประชาชนของพระองค์ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาชนบท ซึ่งมีจำนวนมากมาย ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา และยังประโยชน์ให้แก่พสกนิกรทั่วประเทศ อาทิโครงการที่พัฒนาการเกษตรขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและภัยแล้งด้วยพระปรีชาสามารถในการทางเป็นนักคิดและทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้นานาอารยประเทศตื่นตัว ในการปรับรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่มีต่อประชาราษฎร์ ที่ได้พระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นทางสายกลางแบบพอประมาณ การบริโภคอย่างมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอที่จะต้านทาน และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปรัชญาดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ได้อย่างสอดคล้องกันทั่วโลก ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ อันฉับไวนี้ รวมทั้งสนับสนุนความเพียรพยายามขององค์การสหประชาชาติในการส่งเสริมการพัฒนาคน โดยมีเป้าหมายศูนย์กลางในการพัฒนาคือ ความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนด้วยรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีปณิธานที่จะเชิดชูส่งเสริมประสบการณ์อันทรงคุณค่า และแนวการปฏิบัติจากโครงการพัฒนาที่ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และช่วยจุดประกายแนวความคิดในปรัชญาดังกล่าวสู่นานาประเทศต่อไป ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีความปลื้มปีติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท.ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะtidtangkaset@dailynews.co.th

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ไก่แจ้..ลายดอกหมาก สุดยอดแห่งความนิยม
ไก่แจ้..ลายดอกหมาก สุดยอดแห่งความนิยม
วันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา...ชมรมไก่แจ้มรดกไทย ร่วมกับ สมาชิกไก่แจ้มรดกไทยภาคใต้ จัดการประกวดไก่แจ้สายพันธุ์ไทยๆ ใช้ชื่อว่า... “งานสืบสานไก่แจ้มรดกไทย” ณ บริเวณ ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2 ส่วนขยาย) หรือชื่อใหม่ว่า...ตลาดรัฐประชามาร์เก็ต...
โดยงานนี้...ไก่แจ้ของใครเป็นผู้ชนะยังได้รับถ้วย รางวัลจาก...พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (มือปราบหูดำ) ผบก.น.1 กับถ้วยของ ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ประธานสมาพันธ์สมาคมชมรมไก่แจ้แห่งประเทศไทย...ซึ่งรายได้ ส่วนหนึ่งจากการจัดงานมอบเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กด้อยโอกาส... “บ้านครูน้อย”
ในการประกวดไก่แจ้ครั้งนี้...เกณฑ์การตัดสินใช้ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์...ถือว่ายิ่งใหญ่พอสมควร เพราะมี ไก่แจ้สายพันธุ์ไทยๆ หลากหลายชนิดนำเข้ามาประกวด โดยแบ่ง เป็น 13 ประเภท และมีทั้ง เพศผู้ และ เพศเมีย...เข้าร่วมโชว์ตัวอีกด้วย ซึ่งบรรยากาศภายในดูครึกครื้นและเป็นกันเองในกลุ่มของผู้เลี้ยงไก่แจ้สายพันธุ์ไทย...ไก่แจ้สายพันธุ์ลายดอกหมาก...ดูโดดเด่นและเป็นที่สนใจ มีคนให้ ความนิยมเป็นอย่างมาก โดยไก่แจ้สายพันธุ์นี้ เพศผู้....มีลักษณะ ใบหน้า หงอน เหนียง และติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทรายหรือพื้นกำมะหยี่ ดวงตาสีส้มปนแดง หรือสีเหลืองส้ม จะงอยปากสีขาว หรือเหลือง หรือ ดำอมเหลือง ขนบริเวณหัวมีสร้อยคอระย้าเป็นสีขาวไม่มีสีดำปน ขนหลังและหัวปีกทั้ง 2 ข้าง สีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ...ที่โดดเด่นและชัดเจน...ตรงสาบปีกที่เป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นสีขาวนวล ขนอกใต้ท้องเป็นสีดำ ขนหางทั้งหมดตั้งแต่เครื่องคลุม หางพัด หางชัย เป็นสีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับบัวหงาย (ขนอุย) สีดำ ส่วนแข้ง นิ้ว และเล็บ เป็น สีขาวนวล หรือสีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว...

ส่วน เพศเมีย มีลักษณะของขน ตั้งแต่หัวถึงสร้อยคอจะเข้มเป็นสีเทาอมน้ำตาล ใต้คอ หน้าอกถึงใต้ท้องเป็น สีครีมนวลส่วนสีตัวถึงเครื่องคลุมจะเป็นสีน้ำตาดำ ใบหางพัดทั้งหมดเป็นสีดำน้ำตาล แข้ง นิ้ว เล็บเป็นสีขาวนวล หรือสีเหลือง หรือเหลืองอมเขียว

สำหรับตัวเมีย สีลายนกกระจอก สีขนทั้งตัวจะเป็น สีน้ำตาลอมเหลือง ใบขนตั้งแต่ใต้คางจะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม หน้าอกถึงใต้ท้องเป็นสีน้ำตาลแดง สร้อยคอเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองขลิบขอบด้วยสีน้ำตาลอมดำ ส่วนสีตั้งแต่หัวปีกจนถึงโคนหาง ใบขนแต่ละใบคล้ายๆ เกล็ดปลา คือ ใบขนหางคลุม เป็นสีน้ำตาล ก้านขนและขอบขนเป็นสีครีม ซึ่งเป็น จุดเด่นประจำตัว ปีก 2 ข้าง เป็นสีน้ำตาลมี ลายเหลืองอมเขียว สีเขียว และ สีเขียวอมเทา

...เท่าที่บรรยายสีสันของไก่แจ้สายพันธุ์ลายดอกหมาก ถือว่าเป็น มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ แต่หากใครต้องการสัมผัสการเลี้ยงขอแนะนำให้ไปที่...กลุ่มเพาะเลี้ยงไก่แจ้พันธุ์สีดอกหมากและผลิตภัณฑ์การเพาะเลี้ยงไก่แจ้พันธุ์สีดอกหมาก ตั้งอยู่ที่ 32 หมู่ 10 บ้านมาบตอง ต.หนองละลอก อ.บ้าน– ค่าย จ.ระยอง

ที่นี่เขามีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 20 ตัวต่อปี ไก่แจ้อายุ 2 เดือน สนนราคา 300 บาทต่อคู่ อายุ 4-5 เดือน ราคา 800-1,000 บาทต่อคู่ ส่วนพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ราคาคู่ละ 1,500-2,000 บาท ใครไปไม่ถูกกริ๊งกร๊างหา นางพยอม บุบผาชาติ 0-3889-2162...ในเวลาที่เหมาะสม.

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน
  • 12 กรกฎาคม 2554, 05:00 น.
>>>>>
"กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2" พันธุ์ใหม่หวานหอม
กล้วยไข่ชนิดนี้ เกิดจากงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2541-2544 ด้วยการเอาต้นของกล้วยไข่กำแพงเพชร เป็นกล้วยไข่สายพันธุ์เดียวที่มีในประเทศไทย ไปเพาะเนื้อเยื่อที่ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนนำไปฉายรังสี “แกมมา 20 เกรย์” ที่ศูนย์บริการฉายรังสี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นก็นำต้นที่เพาะเนื้อเยื่อได้ไปปลูกทดสอบที่ จ.นครสวรรค์ พบว่ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น
กล่าวคือ มีลักษณะของ “ผล” ผิดไปจากผลกล้วยไข่กำแพงเพชรที่เป็นสายพันธุ์เดิม คณะวิจัยปรับปรุงพันธุ์จึงตั้งชื่อว่า “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” และในปี พ.ศ.2545-2546 คณะวิจัยปรับปรุงพันธุ์ได้นำต้นไปปลูกทดสอบพันธุ์เพื่อดูความคงที่ของพันธุ์ที่ได้อีกครั้งหนึ่ง ที่สถานีวิจัยปากช่อง จ.นครราชสีมาปรากฏว่า จากการตรวจสอบทางลักษณะภายนอกของ “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” พบว่า มีความคงที่ของพันธุ์ หรือ เรียกว่ากลายพันธุ์อย่างถาวร แน่นอนแล้ว และยังคงมีความเหมือนกับการปลูกทดสอบครั้งแรกที่ จ.นครสวรรค์ ทุกอย่าง พร้อมตรวจสอบ “ดีเอ็นเอ” ด้วยเทคนิค “SRAP” พบว่า “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” มีความแตกต่างกับกล้วยไข่กำแพงเพชรหลายอย่าง แสดงให้เห็นว่า “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” มีความแตกต่างจากพันธุ์เดิม (ตารางที่ 1–4) ทางคณะผู้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ จึงได้ทำการจดทะเบียนพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที ก่อนที่จะทำการขยายพันธุ์ให้เกษตรกรและบุคคลนำไปปลูกเมื่อไม่นานมานี้ส่วน ความแตกต่างระหว่าง “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” กับกล้วยไข่พันธุ์ดั้งเดิมคือ กล้วยไข่กำแพงเพชร ได้แก่ “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” จะให้ผลดก การจัดระเบียบของผลในหวีเป็นระเบียบดี ทำให้สะดวกในการเก็บผลผลิตเพื่อบรรจุหีบห่อส่งไปจำหน่าย เนื้อผลสุกแน่น มีรสหวานและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย รับประทานอร่อยมาก ที่สำคัญ “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” สามารถเก็บได้นานกว่ากล้วยไข่กำแพงเพชร ที่มักจะมีปัญหาเมื่อบรรจุหีบห่อส่งไปต่างประเทศจะเสียหายได้ง่ายเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง และ “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” ยังจัดเวลาปลูกเพื่อให้มีผลผลิตส่งออกได้ตลอดปีด้วย จึงทำให้ “กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2” กำลังเป็นที่นิยมปลูกแพร่หลายในปัจจุบันกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 แผง “คุณพร้อมพันธุ์” ราคาสอบถามกันเองครับ.

“นายเกษตร”

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย นายเกษตร
  • 13 กรกฎาคม 2554, 05:01 น.
>>>>>

ทำนา 1 ไร่ รายได้ 1 แสน

ความเหลื่อมล้ำ...ของ สังคมประชาชนชนบทกับคนเมืองในสัดส่วนของรายได้ นับวันยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนเมืองซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม กำลังจะถูก รัฐบาลเอาใจ...ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท

แต่...สังคมการเกษตรหรือ ชาวชนบทกว่า 6.1 ล้านครัวเรือนที่อยู่ไกล ปืนเที่ยง ยังอยู่ในสภาพ ยากจนมีหนี้สิน ล้นพ้นตัว กลับรางเลือนไม่ได้ถูกยกหรือ นำปัญหามาแก้ไขให้ปลื้ม...

คุณสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (รก.เลขาธิการฯ) ได้พูดถึงแนวทาง การสะสางและส่งเสริม ในฐานะองค์กรที่เป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของเกษตรกรว่า...

...สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ได้เน้นนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ เพื่อให้เกษตรกรสลายปัญหาหนี้สินและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยส่งเสริมให้สมาชิก (เกษตรกร) ทำการเกษตรแบบผสมผสาน (Integrate Farming) หรือให้มีอย่างน้อย 2 ถึง 3 กิจกรรมให้เกื้อกูลกัน...อาทิ

...เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ปลูกพืชร่วมพืชแซมในนาข้าว แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือนำผลพลอยได้จากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มโอกาสทางการตลาด...อันจะทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

และที่ เด่นสุดๆ...โดยเอา กิจกรรมเครือข่ายหอการค้าไทย มาเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ คือเน้น ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปรับต้นทุนการผลิตให้ลดลง โดยเฉพาะเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช อันเป็นเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองและการผลิตแบบผสมผสาน สร้างรายได้ที่มั่นคงด้วยการ...ทำนา 1 ไร่ รายได้ 1 แสน

กิจกรรมในนาพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งสร้างอาชีพและรายได้ให้เกิดเป็นรูปธรรม 1 แสนบาท...มิใช่มีเพียงแค่เพื่อผลิตข้าวเปลือกเท่านั้น ต้องมีกิจกรรมอื่นๆ

เสริมด้วย อาทิ นำข้าวเปลือกที่ได้มาแปรรูปเป็นข้าวสาร ซึ่งจะมีรำ ปลายข้าว และแกลบเป็นผลพลอยได้ ฟางข้าวนำไปจำหน่ายให้กลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ หรือใช้เพาะเห็ด เพิ่มช่องทางทำเงิน

แถม...บนคันนายังนำพื้นที่มาปลูกพริก ตะไคร้ ต้นหอม บัวบก เตยหอม ฯลฯ หรือ ปลูกพืชน้ำในนาข้าว ได้อีกด้วย อาทิ ผักแว่น เทา (สาหร่ายชนิดหนึ่ง) ผักแขยง ฯลฯ และ เลี้ยงปลาดุกหรือกบ ได้อย่างน้อย 5,000 ตัว หรือเสริมด้วย เลี้ยงเป็ดไข่ ได้อีกราวๆ 100 ตัว เป็นอาหารในครัวเรือนเหลือกินก็ขายได้...ล้วนแล้วแต่เป็นเงินทั้งนั้น

กับ...แนวทางปฏิบัติจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หลัก (จากการทำนา) เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% และยังมีรายได้เสริมจากการเพาะปลูกพืช ทั้งระหว่างฤดู ก่อนและหลังนา หรือจากอาชีพเสริมอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่า 10%...อีกทั้งยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงจากเดิมอีกราวๆ 10%

ตอนนี้มีกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดสนใจเข้าร่วมโครงการและลงมือปฏิบัติจริงกันแล้ว และก็มีต้นแบบรายหนึ่งประสบความสำเร็จลงทุนเพียง 22,110 บาท ทำรายได้ 237,858 บาทต่อไร่ ถือว่าสูงสุดของประเทศ

ในขณะที่...หลายคนยังสงสัย อาจตั้งคำถามในใจว่า “ทำนา 1 ไร่ ทำรายได้ 1 แสน...จริงหรือ...”

...อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ จนกว่าจะทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง...ฤดูเพาะปลูกนี้ ลงมือได้เลย (ไม่ต้องรอนโยบายของรัฐ) ครับ...!!!

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 13 กรกฎาคม 2554, 05:01 น.

>>>>>

'ทำนา 1 ไร่ รายได้ 1 แสน'กรุยทางฟื้นฟูอาชีพเกษตร

วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในฐานะองค์กรที่เป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มีแผนเร่งส่งเสริมและขยายผล ’โครงการทำนา 1 ไร่ รายได้ 1 แสน“ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพการเกษตร เพื่อช่วยยกระดับรายได้ให้เพิ่มสูงขึ้น

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเน้นให้เกษตรกรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินและให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนั้นกองทุนฟื้นฟูฯ ยังได้มีแผนที่จะขยายผลส่งเสริม และผลักดันให้เกษตรกรนำ ’โครงการทำนา 1 ไร่ รายได้ 1 แสน“ ของ เครือข่ายหอการค้าไทย มาเป็นต้นแบบและประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพการเกษตรด้วย โดยเน้นให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมการผลิตแบบผสมผสาน มีทั้งการทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์น้ำ ปลูกพืชน้ำ และเพาะเห็ด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมุ่งให้เกษตรกรปรับลดต้นทุนการผลิตลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกร พร้อมสร้างระบบการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองด้วย

กิจกรรมในนาพื้นที่ 1 ไร่ ไม่ใช่มีเพียงแค่การปลูกข้าวเพื่อผลิตข้าวเปลือกเท่านั้น ต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ เสริมด้วย อาทิ นำข้าวเปลือกที่ได้มาแปรรูปเป็นข้าวสาร ซึ่งจะมีรำ ปลายข้าวและแกลบเป็นผลพลอยได้สามารถจำหน่ายหรือใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกันยังจะมีฟางข้าวนำไปอัดก้อนจำหน่ายให้กลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ หรืออาจใช้เพาะเห็ดเพิ่มช่องทางทำเงิน บนคันนายังสามารถปลูกพริก ตะไคร้ ต้นหอม บัวบก และเตยหอม ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่ตลาดมีความต้องการสูง อีกทั้งสามารถเลี้ยงปลาดุกและกบได้อย่างน้อย 5,000 ตัว พร้อมกับแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเลี้ยงเป็ดไข่เสริมได้ประมาณ 100 ตัว และยังสามารถปลูกพืชน้ำในนาข้าวได้อีกด้วย เช่น ผักแว่น เทา ผักแขยง ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เสริมด้วย

ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดสนใจเข้าร่วมโครงการ 1 ไร่ รายได้ 1 แสน เพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา มีเกษตรกรลงมือปฏิบัติจริงและประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ 237,858 บาท/ไร่ ขณะที่ลงทุนเพียง 22,110 บาท สามารถเป็นต้นแบบและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่นหันมาเข้าร่วมโครงการฯ อย่างแพร่หลาย และขยายพื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

หลายคนคงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า...ทำนา 1 ไร่ ทำรายได้ 1 แสน...จริงหรือ???..จงอย่าปักใจเชื่อคำบอกกล่าวนี้จนกว่าจะทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

"ปุ๋ยลดต้นทุน"เพิ่ม3สูตร 18-46-0,0-0-60, 13-13-21

วันอังคาร ที่ 21 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น

โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร หรือ “ปุ๋ยลดต้นทุน” นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ในปีการเพาะปลูก 2554/2555 ราคามีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีลง ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามศักยภาพของชุดดินและผลการวิเคราะห์ดินที่เป็นปัจจุบัน โดยผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นเกษตรกรในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ปีเพาะปลูก 2553/2554 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรนายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการนี้ว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนด ซึ่งเห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ยเคมีให้ผู้เข้าร่วมโครงการในอัตรากิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือ ตันละ 1,500 บาท พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาปุ๋ย 6 สูตร คือ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 16-8-8 สูตร 18-12-6 สูตร 15-15-15ในเรื่องการวิเคราะห์การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรในคราวแรกได้มุ่งเน้นเฉพาะข้าวนาปี แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เพิ่มเติมให้มีการชดเชยพืชอีก 2 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ดังนั้นตามหลักวิชาการจำเป็นต้องเพิ่มปุ๋ยสูตรอื่นสำหรับพืช 2 ชนิดดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินโครงการจึงได้มีมติเห็นชอบ กำหนดสูตรปุ๋ย อีก 3 สูตร ได้แก่สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 สูตร 13-13-21 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการที่กำหนดการชดเชยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังเพิ่มเติมนอกจากนั้นแล้ว ขณะนี้โครงการได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด ต่อจากนั้นจะ เริ่มดำเนินโครงการในภาคกลางทุกจังหวัดประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2554 แล้วดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป เนื่องจากมีช่วงฤดูกาลที่แตกต่างตามแต่ละภาค.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

หมอดินดีเด่นเมืองพะเยา ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

วันพุธ ที่ 06 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น
เมื่อก่อน นายผล มีศรี หมอดินอาสาประจำ อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดสลับกันไปในแต่ละปี และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก โดยไม่ได้อนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินส่งผลให้หน้าดินเสีย ดินเกิดความเสื่อมโทรม ผลผลิตก็ไม่ดี จึงคิดว่า ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวต่อไปไม่ไหวแน่...ประจวบเหมาะที่ในช่วงปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจึงเข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นายผล เล่าว่า ในปีเดียวกันจึงได้สมัครเข้าไปเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารขับไล่แมลงจากผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชปุ๋ยสด ปูนโดโลไมท์
หญ้าแฝก ซึ่งตนก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน ทั้งจากการไปศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำมาประยุกต์กับภูมิปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถวางแผนปรับ ปรุงพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลภูซางของกรมพัฒนาที่ดินสำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขานำหลักการพัฒนาที่ดินมาใช้ จะแบ่งตามความเหมาะสมของที่ดิน และสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินเหนียวที่ลุ่มจะทำการปลูกข้าวนาดำ ดินทรายที่ดอนจะปลูกไม้ผล ได้แก่ ลำไย ส่วนดินลูกรังที่ดอนจะปลูกยางพารา นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และทำคอกสัตว์ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือช่วงแรกก็ทำนาแต่ด้วยลักษณะดินที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำและราคาผลผลิตตกต่ำจึงเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการปลูกยางพาราในสวนลำไย เพราะเล็งเห็นว่าลำไยสามารถให้ผลผลิตได้เพียงไม่นานอีกทั้งราคาตกต่ำตลอด แต่ยางพาราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 9 เดือนใน 1 ปี แถมราคาดีด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท แต่ถ้าเราขายได้ในราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาทเราก็อยู่ได้แล้วมิหนำซ้ำเราปลูกพืชตระกูลถั่วในสวนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้พืชได้นำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากวัสดุในแปลงไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ยางพารา ใบลำไย มูลสัตว์มาหมักกับสารเร่ง พด.1 เพียง 60-90 วันก็จะได้ปุ๋ยไว้ใช้บำรุงต้นบำรุงรากยิ่งทำให้ผลผลิตดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีนี้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในเกรดเอ ทั้งลำไยและยางพารา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอยากไปดูว่า นายผล มีศรี ทำการเกษตรอย่างไร ติดต่อได้ที่ 130 หมู่ 6 ต.ภูซาง
อ.ภูซาง จ.พะเยา โทร. 08-7174-9928.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

เกษตรอินทรีย์สู่วิถีความยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 05 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากล” โดยถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร พร้อมอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับตำบลให้มีความรู้ด้านกระบวนการผลิต รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการผลิตและรับรองมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากลให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์วาระแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างรายได้และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์สู่วิถีความยั่งยืน” ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม นี้ ณ บริเวณกรมส่งเสริมการเกษตร ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อร่วม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเผยแพร่ผลงานด้านเกษตรอินทรีย์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไปสู่ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป และช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วยนายวิทยา อธิปอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาก อาทิ การเปิดเวทีสัมมนาวิชาการเกษตรอินทรีย์ในหัวข้อเรื่อง “เกษตรอินทรีย์สู่วิถีความยั่งยืน” ทั้งยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “พิษภัยของสารเคมีทางการเกษตร” และ “เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์แบบองค์รวม” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร ชั้น 5 อาคาร 1 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.ขณะเดียวกันยังจัดแสดงนิทรรศการด้านกระบวนการผลิต และรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 30 บูธ ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และเครือข่ายตลาดนัดสีเขียว... เป็นต้นดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์สู่วิถีความยั่งยืน เพื่อช่วยสนับสนุนวงการเกษตรอินทรีย์ไทยให้เติบโตและคึกคักมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้มีการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลายและกว้างขวาง จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

>>>

ปลูกยางหนีความจน...ต้องใส่ใจยางทุกต้น

วันจันทร์ ที่ 04 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น

ทุกวันนี้เมื่อเหลียวไปทางไหนโดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก จะเห็นภาพเกษตรกรพากันแห่แหนเปลี่ยนอาชีพมาปลูกสวนยางพารากันเป็นทิวแถว

“วรุณี ลิ้มจิตสมบูรณ์” หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมปลูกยางในโครงการยาง 1 ล้านไร่ ปี 2547 ในพื้นที่ ต.สร้างก่อ อ.กุดจับ จ.เลย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาปลูกยาง เธอเล่าว่า...

“ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี 2541-2542 ซึ่งเป็นปีแรกที่สวนยางพาราในโครงการอีสานเขียวเริ่มเปิดกรีดได้ ซึ่งถึงราคายางจะยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นจากเพื่อนที่ร่วมโครงการ คือ เขามีรายได้สม่ำเสมอจากการกรีดยาง ซึ่งเมื่อเทียบกับเราแล้วถือว่าต่างกันมาก ก็เลยทำให้เริ่มสนใจ จนกระทั่งรัฐบาลมีโครงการยางล้านไร่ขึ้นมา เลยตัดสินใจไปสมัครเข้าร่วม เพราะอยากหาความมั่นคง ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เราเองก็อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่อยากเสี่ยงกับพืชไร่อีกต่อไป ถ้าเป็นไม้ยืนต้นอย่างยางพาราน่าจะมีความมั่นคงกว่า”

ปัจจุบันสวนยางของวรุณี ซึ่งมีทั้งหมด6 ไร่และได้รับกล้ายางมาปลูกตั้งแต่ปลายปี 2547 โตวันโตคืนได้ขนาดตามมาตรฐาน เริ่มทยอยเปิดกรีดได้แล้ว 4 ไร่ หรือ 500 ต้น ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยน้ำยางที่กรีดได้สามารถนำมาทำยางแผ่น 21 แผ่นต่อวัน ซึ่งหากขายในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 150-170 บาท เธอจะมีรายได้เดือนละประมาณ 45,000 บาท จากการกรีดแบบวันเว้นวัน ซึ่งเพียงเท่านี้วรุณีก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่คุ้มเกินคุ้ม

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จกับการปลูกยางพารา แต่สิ่งที่วรุณีพยายามย้ำตลอดการพูดคุย คือ เบื้องหลังความสำเร็จที่เธอหรือเกษตรกรอีกหลายคนได้รับ ทุกคนล้วนต้องฝ่าด่านอันยากลำบากในการปลูกและดูแลรักษาสวนยางมาแล้วอย่างมากมาย...ที่สำคัญ ไม่ได้มีเกษตรกรทุกคนประสบความสำเร็จจากการปลูกสวนยาง!

“ช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงที่หนักมาก เพราะต้องใช้เงินทุนค่าปุ๋ยและค่าดูแลรักษาอื่น ๆ มาก ขณะที่ยางของเราก็ยังเปิดกรีดไม่ได้ ส่วนความรู้เรื่องเทคนิคต่าง ๆ ใหม่ ๆ พี่ก็ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้หรอก แต่อาศัยว่า 2 คนกับสามีไปขอศึกษาจากศูนย์วิจัยยางหนองคาย แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเรา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และซีพี คอยมาให้คำแนะนำเทคนิคขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การปลูก การรักษา ไปจนถึงการกรีดยางอย่างถูกวิธี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเติบโตและการรอดของต้นยาง รวมทั้งปริมาณน้ำยางที่เราจะได้รับด้วย”

วรุณี ย้ำว่า การปลูกสวนยางพาราให้ประสบความสำเร็จ เจ้าของสวนยางต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางทุกต้น ต้องมีความขยัน อดทน และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำแนะนำข้อมูลการดูแล การใช้ปุ๋ย หรือข้อมูลวิชาการอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ควรรีบกรีดยางที่อายุไม่ถึงและโตไม่เต็มที่ เพราะจะเสียหายในระยะยาวไม่คุ้มการลงทุน ควรมีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อใส่ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องไม่เสียเปล่า เพราะดินต่างที่กันจะต้องการธาตุอาหารไม่ตรงกัน ซึ่งทั้งหมดนี้หากทำได้ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และลดปัจจัยความเสี่ยงต่อความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสวนยางได้มากขึ้น

ฉะนั้น หากให้สรุปในบรรทัดนี้ว่าการปลูกสวนยางจะสำเร็จและแก้จนให้เกษตรกรได้หรือไม่ คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่ใครแต่อยู่ที่มือของเกษตรกรแต่ละคนนั่นเอง!

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

ยุ่นเปิดเพลงคลาสิกบ่มมะม่วง

วันพุธ ที่ 06 กรกฎาคม 2554 เวลา 18:30 น

แปลกแต่จริง ญี่ปุ่นเปิดเพลงโมสาร์ทบ่มมะม่วงพันธุ์ไทย ระหว่างเก็บรอในห้องเย็นก่อนนำออกจำหน่าย เผยรสชาติดีขึ้น

วันนี้ (6 ก.ค.) นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานว่าผู้นำเข้ามะม่วงรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการการขาย ด้วยการเปิดดนตรีคลาสสิกของโมสาร์ท เพื่อบ่มเพาะมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์มหาชนกของไทยระหว่างที่เก็บในห้องเย็นรอการจำหน่าย และพบว่ารสชาติของมะม่วงอร่อยขึ้น มีการเน่าเสียลดลง และที่สำคัญทำให้ขายได้ดี และราคาสูงขึ้น

“นับเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มที่น่าทึ่งกับผลไม้ไทย โดยนำดนตรีไปโยงเข้ากับอาหาร ทำให้ยืดอายุการจำหน่ายผลไม้ได้ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการ สร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ ในการจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า โดยตลาดญี่ปุ่นนิยมผลไม้ไทยมาก เพราะมีรสชาติอร่อยหลากหลายชนิด แต่ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้สดไปญี่ปุ่นได้เพียง 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน มะพร้าวอ่อน กล้วย และสับปะรด เนื่องจากติดปัญหาผลผลิตบางปีมีมาก บางปีน้อย ทำให้ผลไม้ไทยขาดหายไปจากตลาด”

ด้านนางอัมพวัน พิชาลัย อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ จะเสนอให้ทดลองนำสับปะรดพันธุ์ภูแล และนางแล ไปบ่มเพาะด้วยดนตรีคลาสสิกก่อนขายเพื่อสร้างความน่าสนใจในการจำหน่าย จึงถือเป็นโอกาสแก่ผู้ส่งออกผลไม้ ในการเข้ามาขยายตลาดในญี่ปุ่นเพิ่ม โดยเฉพาะ ทุเรียน มะม่วง มังคุดและมะพร้าว ที่จะได้ลดภาษีเหลือ 0% ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทป้า) แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารด้วย

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>
พัฒนาเตาอบยางแผ่นฯ ประหยัดพลังงาน
วันจันทร์ ที่ 04 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น
ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าถึง 7,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ในกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน กำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้ คือ “เตาอบยางแผ่นรมควัน” ที่ใช้กันอยู่นั้นมีอายุเกือบ 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2536-2537) เป็นเตาอิฐ ทำให้การใช้งานเริ่มหมดสภาพ และใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะไม้ยางพาราที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้นและผันผวนตามความต้องการของตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย. สูงขึ้นตามไปด้วยนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยสามารถผลิตยางได้ปีละกว่า 3 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศถึงกว่า 16.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศถึง 4.3 ล้านไร่ คิดเป็น 1ใน 4 ของประเทศ ประกอบกับราคาน้ำยางพาราที่สูงขึ้น และความต้องการยางแผ่นรมควันในต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เตาอบยางแผ่นรมควันที่ส่วนใหญ่ใช้กันอยู่เริ่มหมดสภาพและราคาไม้ฟืนที่แพงขึ้น อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและคุณภาพของยางที่ได้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ร่วมมือกับ สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เดินหน้าต่อยอด “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” ให้แก่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย.ในพื้นที่ 4จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ล่าสุดมี สกย.ที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 13 แห่ง สำเร็จแล้ว 1 แห่ง และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ 12 แห่งปีงบประมาณ 2553–2555 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 11.3 ล้านบาท โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปน้ำยางพาราแบบลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการขยายผล “การสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” จำนวนทั้งสิ้น 32 เตา ภายในระยะเวลา 3 ปีสำหรับต้นทุนการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานฯ นี้ มีมูลค่าเตาละ 500,000 บาท สกย.ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยในการดำเนินการจัดทำเตาละ 300,000 บาท อีก 200,000 บาท โครงการ iTAP ให้การสนับสนุน 70% เป็นค่าที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่ สกย.จะเป็นผู้ออกเพิ่มเติมรศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อกระตุ้นให้ สกย.หันมาพัฒนาเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมใช้แทนเตาแบบเดิม เพราะผลสำเร็จในการสร้างและทดลองใช้เตาต้นแบบที่ สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี เมื่อกลางปี 2552 สามารถประหยัดพลังงานและเวลาได้จริง โดยลดการใช้ไม้ฟืนลงได้มากกว่า 40%, ลดระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจาก 4 วันเหลือ 3 วัน ,ปริมาณยางเสียลดลง และมีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ยังสามารถดึงกลับเข้าไปใช้รมควันยางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดปริมาณควันออกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่สำคัญยังทำให้ต้นทุนโดยรวมในการรมยางลดลงมากกว่า 30%สำหรับ สกย.หรือกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่สนใจต้องการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมแบบใหม่นี้ สามารถติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง โทร. 0-7461-2416 ต่อ 24 หรือ โทรสาร. 0-7461-1772 หรือที่โครงการ iTAP โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1382, 1389 (ในวันและเวลาราชการ).

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>>>

การดูแลต้นไม้หน้าฝน
วันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เวลา 00:00 น.

ช่วงนี้ก็เข้าหน้าฝนกันแล้ว ทราบหรือไม่ว่าควรดูแลต้นไม้อย่างไร วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์มีวิธีดูแลต้นไม้ในหน้าฝนมาบอก...

1. ต้องตัดแต่งกิ่งต้นไม้ยืนต้นให้โปร่งก่อนจะเข้าหน้าฝน ถ้ากิ่งก้านทึบมากเกินไปจะทำให้กิ่งฉีก หักได้ง่าย เพราะน้ำฝนที่เกาะบนใบไม้ในปริมาณมาก จะมีน้ำหนักมากขึ้นทำให้กิ่งฉีกขาดเสียหาย นอกจากนี้หน้าฝนจะมีพายุและลมแรงกระโชก ทำให้กิ่งไม้ฉีกขาดหรือหักได้

2. ต้องมั่นใจว่าพื้นที่ปลูกต้นไม้ไม่มีน้ำท่วมขัง ถ้ามีน้ำขังแล้วจะทำให้ต้นไม้เกิดอาการรากเน่า ควรจะปรับเนินดินเพื่อไม่ให้น้ำขังบริเวณโคนต้น ถ้าทำเนินดินแล้วต้นไม้ยังได้น้ำมากเกินไปอยู่อีก ควรจะทำระบบระบายน้ำจากบริเวณรอบโคนต้นไม้ ให้น้ำไหลออกไปเร็วที่สุด แต่ควรระวังปริมาณ ดินที่มาปรับทำเนินจะทำให้เกิดอันตรายต่อต้นไม้ได้ ถ้าหากการถมดินนั้นกลบโคนต้นไม้ มากเกินไป

3. ควรฉีดยาพ่น ยาป้องกันกำจัดเชื้อราด้วย เพราะเชื้อรา คือ สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชพรรณลดลง

4. หมั่นกำจัดวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมต้นไม้เป็นประจำ เพราะหน้าฝนวัชพืชจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและขึ้นปกคลุมต้นไม้ แย่งอาหารและแสงแดด ทำให้ต้นไม้อ่อนแอ

5. ควรพรวนดินเพื่อให้ดินมีโอกาสแห้งในระดับผิวดิน และรากต้นไม้ที่อยู่ในระดับหน้าดิน จะได้รับออกซิเจน

6. ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป หรือถ้าใส่ต้องรีบพรวนดินเพื่อให้ดินกลบปุ๋ยก่อนที่น้ำฝนจะชะล้างปุ๋ย ให้ไหลไปที่อื่น

7. สำหรับต้นไม้ที่ปลูกใหม่ควรค้ำยันให้ดี เพราะยังไม่มีรากที่จะยึดเกาะดินพยุงลำต้นอยู่ได้ด้วย ตัวเอง อีกทั้งลมแรงอาจทำให้ต้นไม้ปลูกใหม่โอนเอนไปตามลม ซึ่งจะทำลายระบบรากที่กำลังแตกออก อาจทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโตได้

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมหันมาดูแลต้นไม้ช่วงหน้าฝนให้ถูกวิธีกันด้วย


ข่าวจาก

Daily News Online


>>>


เพาะเห็ดเป็นอาชีพ...รายได้ดี

วันอังคาร ที่ 28 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น

ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเห็ดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาไม่แพงและยังสามารถเพาะเห็ดไว้บริโภคในครัวเรือนได้โดยใช้ต้นทุนต่ำขณะเดียวกันยังมีการผลิตเห็ดเพื่อการค้าแพร่หลายมากขึ้นทำให้เห็ดกลายเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งแต่ละปี ไทยมีกำลังการผลิตเห็ดได้ประมาณ 120,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7,014 ล้านบาท โดยเฉพาะเห็ดเพาะถุงนับว่ามีศักยภาพการผลิตสูงมาก ทั้งเห็ดเข็มทอง เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางรมฮังการี เห็ดยานางิ เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดเออเรนจิ และเห็ดหลินจือ ซึ่งตลาดให้การตอบรับดีและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

นายสุพัฒน์ กลัดเดช นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร (พืชสวน) กล่าวว่า การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การผลิตที่เหมาะสม และการส่งเสริมการฝึกอบรมอาชีพการเกษตรให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป เป็นภารกิจหนึ่งที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร (พืชสวน) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และการจัดฝึกอบรมการเพาะเห็ด ทั้ง หลักสูตรการเพาะเห็ดเพื่อการค้าและหลักสูตรการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็น 2 หลักสูตร ที่อยู่ภายใต้โครงการฝึกอาชีพการเกษตรเฉพาะด้าน ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรและผู้สนใจค่อนข้างมาก มีผู้เข้ารับการอบรมปีละกว่า 200 คน

การเริ่มต้นอาชีพการเพาะเห็ดมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ การซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอกเอง การทำก้อนเชื้อเห็ด และการทำหัวเชื้อเห็ด เบื้องต้นขอแนะนำให้ทำก้อนเห็ดและทำหัวเชื้อเห็ดไว้ใช้เอง เพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่ง ขั้นตอนการทำก้อนเห็ด มีดังนี้ 1. ผสมขี้เลื่อย รำข้าว ปูนยิปซัม ปูนขาว และดีเกลือ ตามสัดส่วนที่กำหนด ให้เข้ากัน 2. ฉีดน้ำให้ส่วนผสมชื้นพอเหมาะไม่เปียกจนเกินไป 3. บรรจุส่วนผสมดังกล่าวในถุงพลาสติกบรรจุให้เป็นแผ่นแล้วใส่คอขวดใช้ยางรัดและอุดปากด้วยสำลีปิดทับด้วยกระดาษที่ไม่ใช้แล้ว 4. ใส่ในตะแกรงเหล็กที่ใช้สำหรับนึ่งก้อนเชื้อเห็ด แล้วนำไปนึ่งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมงในห้องอบก้อนเชื้อเห็ด 5. นำก้อนเชื้อเห็ดที่นึ่งสุกออกมาพักไว้ 12 ชั่วโมง เพื่อให้ก้อนเชื้อเห็ดเย็น 6. นำสำลีที่อุดปากถุงออกแล้วหยอดเชื้อเห็ด และ 7. อุดสำลีและปิดปากด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ก็จะได้ก้อนเห็ดที่มีคุณภาพ

คุณอ้อมจันทร์ สนบ้านแพ้ว ฝ่ายควบคุมการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ดบ้านรางสายบัว ต.คลองตัน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดเพื่อการค้าจากศูนย์ฯ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดบ้านรางสายบัว มีสมาชิก จำนวน 15 ราย ดำเนินการเพาะเห็ดในเชิงพาณิชย์ โดยสมาชิกกลุ่มมีการระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือ เพื่อผลิตก้อนเห็ดที่มีคุณภาพป้อนให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่ต้องการก้อนเห็ดนำไปเปิดดอก โดยจะผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มีกำลังการผลิตวันละไม่น้อยกว่า 1,500 ก้อน

ก้อนเห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่นและเห็ดยานางิ ขายก้อนละ 6 บาท ส่วนก้อนเห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดภูฏาน และเห็ดฮังการี ราคาก้อนละ 4 บาท ซึ่งตลาดให้การตอบรับดีมาก นอกจากนั้นกลุ่มยังมีการผลิตเห็ด 3 ชนิด ป้อนตลาดด้วยโดยจะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ได้แก่ เห็ดหูหนู ขายส่งหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 25-30 บาท เห็ดภูฏาน กิโลกรัมละ 30-50 บาท และเห็ดเป๋าฮื้อ กิโลกรัมละ 35-60 บาท ซึ่งยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ขณะที่ราคามีแนวโน้มดีและยังไปได้สวย สามารถสร้างอาชีพและช่วยให้สมาชิกมีรายได้ 7,000-10,000 บาทต่อเดือน

สนใจที่จะฝึกอบรม การเพาะเห็ดเพื่อการค้า หรือ การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า สอบถามได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร (พืชสวน) เลขที่ 39 หมู่ 12 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โทร. 0-2429-1298-9.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>

แนะทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างสมบูรณ์

วันพุธ ที่ 22 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก เพื่อต้องการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ด้วยการใช้ในปริมาณที่มากโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน ไม่เพียงแต่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้นยังส่งผลให้อินทรีย์วัตถุหายไป จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชก็หายไปด้วย ทำให้ดินเสียดินเสื่อมโทรม เพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี โดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ควบคู่กับปุ๋ยเคมีและพัฒนาไปสู่การใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีเลย

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ภายใต้ชื่อ สารเร่งซูเปอร์ พด.สูตรต่าง ๆ ที่สามารถช่วยในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยให้พืชสามารถดึงธาตุอาหารที่อยู่ในดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใส่ในปริมาณที่มาก แต่ทราบหรือไม่ว่าปุ๋ยที่ใส่ลงไป 100% นั้น พืชสามารถดึงไปใช้ได้เพียง 60% ที่เหลืออีก 40% ก็ถูกตรึงอยู่ในดินพืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็เท่ากับว่าเกษตรกรลงทุนไปเต็ม ๆ แต่ได้ผลแค่ครึ่งเดียว ดังนั้น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พด.จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้งช่วยทำให้ธาตุอาหารที่ถูกตรึงไว้ในดินนั้นสามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

โดยปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นหนึ่งในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พด.ที่สามารถสร้างโรงผลิตปุ๋ยและฮอร์โมนในดินได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 ประเภท ได้แก่ 1.จุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศและเปลี่ยนให้เป็นรูปแอมโมเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช 2. จุลินทรีย์ที่เพิ่มการละลายของหินฟอสเฟต และช่วยปลดปล่อยฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงไว้ในดินให้พืชสามารถดูดมาใช้ประโยชน์ได้ 3. จุลินทรีย์ที่ช่วยละลายและปลดปล่อยโพแทสเซียมที่ถูกตรึงไว้ให้มาใช้ประโยชน์ได้ 4. ฮอร์โมนพืช ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญงอกของเมล็ด ส่งเสริมการเจริญของรากพืช ทำให้พืชสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้น จากการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมี ในข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน และผักกะหล่ำปลี ปรากฏว่านอกจากจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 50% แล้ว ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ 5-15%

อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดินยังได้พัฒนาต่อยอดผลสำเร็จของปุ๋ยชีวภาพ พด.12 มาผสมผสานกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตร พด. จนกระทั่งได้ปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพคุณภาพสูง ที่มีทั้งธาตุอาหาร จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช ซึ่งสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี และมีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรใช้อยู่ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านแหลมดิน หมู่ที่ 5 ต.สวนแตง อ.ละแม จ.ชุมพร พบว่าเมื่อนำปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพคุณภาพสูงไปใช้ในสวนปาล์มและสวนทุเรียน พบว่าทำให้พืชเจริญเติบโต และให้ผลผลิตดีมาก และเมื่อใช้กับยางพาราก็ทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตและให้น้ำยางเพิ่มขึ้นมาก ที่สำคัญปัจจุบันเกษตรกรบ้านแหลมดินไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีอีกเลย

หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือหมอดินอาสาใกล้บ้าน พร้อมรับปัจจัยการผลิตสารเร่งซูเปอร์ พด. ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ได้...ฟรี.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>

เดินหน้าขยายผลองค์ความรู้ ตามแนวพระราชดำริ

วันเสาร์ ที่ 25 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับสำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงบประมาณจัดขึ้น เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นก็คือการจัดปาฐกถาพิเศษ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา

โอกาสนี้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาพิเศษ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ว่าหลักการดำเนินงานและผลสำเร็จจากการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ทั่วประเทศ รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งได้สนองพระราชดำริมากว่า 30 ปี ได้ก่อเกิดผลสำเร็จและประโยชน์สุขต่อราษฎรอย่างเหลือคณานับ และพร้อมนี้จะขยายผลสำเร็จสู่ประชาชนที่สนใจ เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดของประเทศก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ ฝึกอบรม และนำความรู้ ความสำเร็จจากศูนย์ศึกษาการพัฒนา หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ประสบผลสำเร็จสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที

ขณะเดียวกัน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้กล่าวไว้ในครั้งที่บรรยายพิเศษในหัวข้อ ในหลวงกับการพัฒนา ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด ทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย โดยพระองค์ทรงนำความรู้ที่ทรงพบเห็นเหล่านั้นโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของราษฎรมาหาแนวทางเพื่อการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ซึ่ง ณ วันนี้โครงการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างมาก

นอกเหนือจากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายไปทั่วประเทศแล้วนั้น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสมดุลบนพื้นฐานของเหตุและผล โดยมีภูมิคุ้มกันเป็นตัวช่วยให้รอดพ้นจากภาวะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

“ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนักทุ่มเทพระวรกาย มิทรงย่อท้อ เพื่อจะพระ ราชทานพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ และก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ กว่า 3,975 โครงการ ที่กระจายอยู่ในทุกจังหวัด ในทุกด้านที่เป็นปัญหาของราษฎร ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินดาล ป่าถูกทำลาย การพัฒนาอาชีพ และการศึกษา ฯลฯ สำนักงาน กปร. มีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริเหล่านี้ไปสู่ประชาชนให้ได้รับรู้รับทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการขยายผล เพื่อให้ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติสามารถพึ่งพาตนเอง อยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะนำมาซึ่งความสำนึกของการรักบ้านเกิด และเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ อันจะทำให้สังคมไทย ประเทศไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและประสบความสำเร็จตลอดไป” นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กล่าว.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>

การปลูกมะนาวในจังหวัดเพชรบุรี
[10 ธันวาคม 2553 06:38 น.]

โดย เดลินิวส์

ปัจจุบัน อำเภอท่ายางนับเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของประเทศที่จะมีการซื้อ-ขายผลผลิตมะนาวจากทั่วประเทศ ในอดีตเกษตรกร อำเภอท่ายาง จะปลูกมะนาวพันธุ์หนังและพันธุ์ไข่เป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนสายพันธุ์มาปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แป้นรำไพ, แป้นใหญ่, แป้นดกพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากผลผลิตมีเปลือกบาง ปริมาณน้ำมากและมีกลิ่นหอม ปัจจุบันมีเกษตรกร อำเภอท่ายางและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ขยายพื้นที่ปลูกมะนาวไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่

คุณพิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล เกษตรกรรายหนึ่งของ อำเภอท่ายาง จังหวัด เพชรบุรี ปลูกมะนาวในกลุ่มสายพันธุ์แป้นในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ คุณพิทักษ์ บอกว่าในการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้นมะนาวจะชอบสภาพดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี และที่สำคัญสภาพพื้นที่ปลูกมะนาวของ เกษตรกร จังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชไร่ เช่น อ้อยและข้าวโพด มาก่อนทำให้สภาพดินถูกใช้มานานขาดอินทรียวัตถุ จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุเข้าไป คุณพิทักษ์ซึ่งนับเป็นเกษตรกรหัวสมัยใหม่ของ อำเภอท่ายาง นอกจากจะมีการนำสมุนไพรมาใช้ร่วมกับสารเคมีเพื่อใช้ป้องกันและกำจัดแมลง ยังมีการศึกษาปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะตกเฉลี่ยประมาณปีละ 600-700 มิลลิเมตร จังหวัดเพชรบุรี จะมีฝนตกมาก 2 ช่วงคือ เดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม

ในการบังคับมะนาวให้ออกนอก นอกฤดูจะเน้นในเรื่องของความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก วิธีการสังเกตว่าต้นมะนาวมีความสมบูรณ์ก็คือมีใบใหญ่และมีสีเขียวเข้ม จะมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยในการสะสมอาหารโดยฉีดพ่นในช่วงใบเพสลาดก่อนที่จะกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอก สำหรับปัญหาเรื่องโรคแคงเคอร์ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการปลูกมะนาวและเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นทั้งหลายจะค่อนข้างอ่อนแอ ต่อโรคนี้ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงต้นโปร่ง มีส่วนช่วยลดปัญหาการระบาดได้บ้าง ซึ่งจะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนเกษตรกรจะต้องมีการฉีดสารป้องกันและกำจัดเชื้อราด้วย

ปัจจุบันมะนาวท่ายางเป็นตัว กำหนดราคาซื้อ-ขายมะนาวทั่วประเทศ ผลผลิตมะนาว ในเขตพื้นที่ อำเภอท่ายาง และอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัด เพชรบุรี จะเป็นตัวกำหนดราคาซื้อ-ขายมะนาวทั่วประเทศหรืออาจจะกล่าวง่าย ๆ ว่าราคามะนาวเพชรบุรีจะมีราคาแพงกว่าที่อื่น ผลผลิตมะนาวท่ายางจะส่งไปขายยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยส่งไปที่ จังหวัดนครราชสีมา และมีการกระจายผล ผลิตไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะที่ภาคตะวันออกจะส่งไปขายที่จังหวัดชลบุรี.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>

ปลูกกล้วยไม้เพียง 1 ไร่ สร้างรายได้ดีที่พิจิตร

« เมื่อ: มกราคม 09, 2011, 10:47:49 »

คุณเกษศิรินทร์ อำมาตย์มณี เกษตรกรชาวจังหวัดพิจิตร ไม่ได้มีพื้นฐานการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาก่อนเลย เริ่มแรกก็ได้ซื้อมาทดลองปลูกเลี้ยงก็มีทั้งที่เลี้ยงรอดได้บ้างแต่ก็ไม่ได้งามนักและเลี้ยงตายเป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ท้อถอยกลับพยายามหาความรู้เพิ่มเติม ศึกษามากขึ้นก็สามารถปลูกเลี้ยงได้ดีขึ้นตามลำดับ จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจจะทำสวนกล้วยไม้ จากประสบการณ์ที่ได้พบมานาน 4 ปีและในวันนี้ประสบความสำเร็จมีรายได้ดีพอสมควรจากการปลูกกล้วยไม้เพียง 1 ไร่

คุณเกษศิรินทร์เล่าว่าคนปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต้องมีความรู้ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เบื้องต้น ความรู้ในปัจจุบันนั้นหาได้จากหลายแหล่ง ทั้งตำราการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้, ติดตามอ่านจากเว็บไซต์การเลี้ยงกล้วยไม้, สอบถามจากผู้ที่ปลูกเลี้ยงมาก่อนหรือแม้แต่การออกเที่ยวดูสวนกล้วยไม้จริง, ทดลองซื้อกล้วยไม้มาเลี้ยงทุก ๆ สายพันธุ์ หรือเลือกปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่เรามีความชื่นชอบส่วนตัวก่อน ไม่นานก็จะรู้ตัวว่าเรามีความถนัดกับการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลใด หรือทราบว่ากล้วยไม้สกุลใดเจริญเติบโตเหมาะสมกับพื้นที่

ได้ทดลองเลี้ยงกล้วยไม้มาเกือบทุกสกุลทั้ง ฟาแลนน็อปซิส, รองเท้านารี, หวาย, เข็ม, แคทลียา, ช้าง, แวนด้า ฯลฯ และพบว่าชื่นชอบกล้วยไม้สกุลช้าง และปลูกเลี้ยงได้ดีในพื้นที่ จ.พิจิตร ที่ดินในการสร้างสวนและแหล่งน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ทำเลในการสร้างสวนหรือสังเกตการณ์ได้จากสวนกล้วยไม้ใหญ่ ๆ มักจะอยู่ใกล้ ๆ กับแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำหรือคลองชลประทานเพราะเป็นน้ำที่เหมาะใช้รดกล้วยไม้ หากนำน้ำบาดาลมารดน้ำกล้วยไม้ จะพบว่าการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ไม่ดีเท่าใดนัก เพราะน้ำบาดาลมีคราบสนิม ส่วนน้ำประปาก็สามารถใช้รดกล้วยไม้ได้ดี แต่จะเพิ่มต้นทุนการผลิตมาก สำหรับเคล็ดลับการให้น้ำและการฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมี ควรรดน้ำให้กับต้นกล้วยไม้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วจึงฉีดพ่นปุ๋ยและยาตาม ต้นกล้วยไม้จะมีการเจริญเติบโตและตอบสนองต่อปุ๋ยได้อย่างชัดเจน

แต่เดิมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จะใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นประจำ แต่พบว่าการใช้สารป้องกันกำจัดโรค-แมลงนั้น ทำให้ไม่สามารถเดินดูหรือดูแลกล้วยไม้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยกลิ่นเหม็นและอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้ประยุกต์ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูกล้วยไม้ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีวภาพ ที่เริ่มมีจำหน่ายมากขึ้นในท้องตลาด เริ่มแรกก็มีการใช้ร่วมกับสารเคมีก่อนเพื่อดูประสิทธิภาพ จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน จนสวนกล้วยไม้ใช้สารป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่เป็นสารชีวภาพทั้งหมด สามารถทำได้จริง กล้วยไม้ก็มีการเจริญเติบโตเป็นปกติเหมือนช่วงที่ใช้สารเคมี.

ข่าวจาก

Daily News Online

>>>